สำนักงานกสม. 27 พ.ย.-กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาร้องกสม.ตรวจสอบกรณีน้องเมย ติงเป็นองค์กรไม่ประดับที่คอยแก้ต่างให้รัฐ ด้านอังคณาโต้ไม่ได้เป็นตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมยกเรื่องน้องเมยเข้าที่ประชุมกสม.
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย , Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People , Law Long Beach และThird Way Thailand นำโดย นายนิธิ กัลชาญพิเศษมายื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. เพื่อขอให้กสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 พร้อมออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดชึ้น ระบุว่า การเสียชีวิตของนตท.ภคพงศ์ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 –ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต 8 นาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในรัฐบาลทหาร
หนังสือดังกล่าวระบุว่าการลงโทษที่เกินเลย หาใช่หารกระทำเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่เป็นการลุอำนาจของผู้กระทำ เป็นการลดทอดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำให้เป็นวัตถุรองรับอารมณ์ ความเคียดแค้นที่ซึมซับปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่น และการแสดงออกถึงอำนาจของผู้กระทำเท่านั้น การลงโทษที่เกินเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม.ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นและมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทุกกรณีโดยไม่ล้าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันสิทธิมนุษยชน ย่อมปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว
“แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ทำหน้าที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นใน 7 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร เปรียบเสมือนองค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับคอยแก้ต่างสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารเท่านั้น ทางกลุ่มจึงต้องการให้กสม. ตลอดจนองค์กรอื่นตามารัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเตรียมทหารและค่ายทหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยหาทางป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันจะเกิดขึ้น ได้อีกในสถานที่เหล่านี้ และขอประณามรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ยังสร้างความชอบธรรมให้การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้อีกด้วย” หนังสือดังกล่าวระบุ
ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นกระแสสังคมขณะนี้อย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมากสม.ตรวจสอบกรณีรับน้องที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งจัดทำรายงานเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว ส่วนกรณีน้องเมยมีการยื่นคำร้องเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ กสม.สามารถหยิบยกมาตรวจสอบได้เอง ตามกระบวนการเมื่อรับคำร้องแล้ว กสม.จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องเชิญครอบครัว แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งขอเอกสารข้อมูลจากนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณา ซึ่งการตรวจสอบคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จภายใน 1-2 วัน
นางอังคณา กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถประชุมได้ แต่ในการประชุมกสม.ครั้งต่อไป จะนำเรื่องนี้เข้าหารือ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กสม.ได้หาข้อมูลเบื้องต้นไว้พอสมควรแล้ว ส่วนกรณีกลุ่มนศ.กล่าวหาว่ากสม.เป็นองค์กรที่ตายแล้ว และเข้าข้างรัฐบาลทหารนั้นมาจากกรณีใด ขอให้อธิบายให้ชัดเจน เพราะการจะกล่าวหาใครต้องมีข้อเท็จจริง ไม่ใช่กล่าวลอย ๆ โดยไม่มีที่มา
ทั้งนี้ กลุ่มนศ.ได้อ่านรายงานคำชี้แจงที่กสม.ไปรายต่อที่ประชุมที่กรุงเจนีวา แต่ไม่สามารถระบุถึงกรณีและถ้อยคำที่บอกว่าเป็นการแก้ต่างให้รัฐบาลได้ นางอังคณณาจึงย้ำว่านี่ไม่ใช่เป็นการดุ เพียงแต่ต้องการบอกให้ทราบข้อเท็จจริง ซึ่งตนเป็นคนไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2 ครั้งด้วยตัวเอง
“กสม.ขอชี้แจงกรณีตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่า องค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับ คอยแก้ต่างสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารนั้น ยืนยันว่ากสม. ไม่ได้ทำหน้าที่แก้ต่างให้กับรัฐ เพราะกสม.มีหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สิ่งใดที่กำหนดให้เราทำ เราก็ต้องทำ สิ่งไหนไม่ได้กำหนดเราก็ทำไม่ได้ เราไม่ได้กลัวทหาร ที่ผ่านมาเราก็เชิญทหารมาให้ข้อมูลอยู่เป็นประจำ” นางอังคณา กล่าว.- สำนักข่าวไทย
