21 ก.ค.- ที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม 2 เรื่อง กรณีการลงนิคหกรรม หรือการลงโทษภิกษุที่ผิดพระธรรมวินัย พร้อมกำหนดกรอบเวลาวินิจฉัยรู้ผลภายใน 10 วัน หากมีหลักฐานชัด และขั้นตอนการสละสมณเพศของพระที่กระทำผิด ย้ำการปรับครั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการจัดการ เพิ่มบทบาทสำนักพุทธฯ แสวงหาข้อมูลและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ร่วมแถลงข่าวเปิดเผย ภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคมวันนี้
โดย รศ.ดร.ชัชพล ระบุว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติแก้ไขเพิ่มเติม กฎมหาเถรสมาคม 2 เรื่อง เพื่อใช้ในการเร่งรัดการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ที่ประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัย หนึ่ง เกี่ยวกับการลงนิคหกรรม หรือการลงโทษภิกษุตามพระธรรมวินัย กฎนี้เดิมตราขึ้นปีตั้งแต่ปี 2521 โดยจะมีการเพิ่มเติมที่ให้อำนาจข้าราชการมีส่วนนำเสนอประเด็นได้โดยไม่ต้องรอคณะสงฆ์อย่างเดียว โดยอำนาจวินิจฉัยยังเป็นคณะสงฆ์ ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ จะมีส่วนในการสนับสนุนข้อมูล พยานหลักฐาน ช่วยเร่งรัดกระชับกระบวนการให้จัดการได้ไวขึ้น
โดยร่างกฎมหาเถรมาคมเรื่องลงนิคหกรรม ที่จะบังคับใช้เพิ่มเติมใหม่ จะมีการเพิ่มเติมหมวด โดยเฉพาะวิธีการปฏิบัติเมื่อปรากฏหลักฐานพระสงฆ์กระทำผิดชัดแจ้ง เช่น แบ่งเป็นในการพิจารณาพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระธรรมวินัย เนื่องจากเสพเมถุน หรือต้องอาบัติปาราชิกอื่นๆ ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงที่มีหลักฐานชัดแจ้ง หรือกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจากการสอบสวนของสำนักงานพระพุทธศาสนาชาติ ปรากฏหลักฐานว่าพระภิกษุเสพเมถุนหรือต้องอาบัติปาราชิกอื่นๆ หรือประพฤติผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำเสนอ ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม เพื่อมีคำสั่งลงนิคหกรรม ได้ หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลางขึ้น ส่วนในต่างจังหวัด เป็นหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภานใน10 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเสนอให้ทราบ และกรณีนั้นปรากฏหลักฐานชัดเจน
กรณี พระที่สังกัดวัดแห่งหนึ่ง ไปปฏิบัติความผิดอีกที่ นอกเขตที่พระภิกษุสังกัด กรณีนี้ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจในการให้พื้นที่เขตอำนาจปกครองของคณะสงฆ์ในพื้นที่ที่พบการกระทำความผิดจัดการ หรือพิจารณาเสนอต่อมหาเถรสมาคม มอบให้คณะกรรมการกลางพิจารณา
การเร่งรัดการลงนิคหกรรม ที่ผ่านมา ที่ดำเนินการล่าช้านั้น เดิมไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา เจ้าคณะปกครองอยู่ใต้อำนาจของมหาเถรสมาคม ดังนั้นจึงกำหนดกรอบภายในระยะเวลา 10 วันหากปรากฏหลักฐานชัดแจ้ง ข้าราชการที่มีอำนาจในการสนองงาน หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นความผิดของเจ้าพนักงานนั้น
การเร่งรัดการดำเนินงานนิคหกรรม ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจร่วมเร่งรัดติดตามผลดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อการสืบหาพยานหลักฐานและสนับสนุนการออกคำสั่งลงนิคหกรรม หรือกรณี พศ.ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถหยิบยกขึ้นมาให้กรรมการกลางที่มหาเถรสมาคมตั้งขึ้นมาวินิจฉัยพิจารณาได้เลย
อีกประเด็น ที่แก้ไขกฎมหาเถรสมาคม คือ เรื่องสละสมณเพศ เดิมตราไว้ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันอาจยังมีความไม่ครอบคลุม จึงต้องเพิ่มรายละเอียด ข้อกำหนดลักษณะเฉพาะของพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นของพระที่ละเมิดพระธรรมวินัย กรณีพระภิกษุที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอยู่บ่อยครั้ง หรือปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่ามีการกระทำเข้าข่ายต้องอาบัติ ประเภทครุกาบัติ หรือพบพฤติการณ์ว่า หากปล่อยให้ดำรงสมณเพศต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์
กรณีพระภิกษุรูปใดพบกระทำผิด ให้พศ.เป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงรายงานต่อเจ้าคณะเจ้าปกครองและให้ดำเนินการสละสมณเพศ โดยกรณีพระสงฆ์ทั่วไปให้เสนอเรื่องต่อเจ้าคณะภาค กรณีเป็นพระสังฆาธิการคือพระภิกษุที่มีตำแหน่งปกครองให้เสนอเรื่องต่อเจ้าคณะใหญ่ เว้นแต่ กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ หรือเป็นพระราชาคณะ ส่งเรื่องให้มาที่มหาเถรสมาคมวินิจฉัย หากมีการขัดคำสั่งคณะสงฆ์ไม่ยอมสละสมณเพศ ให้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการดำเนินการสละสมณเพศ
กรณีต้องอาบัติปาราชิก วิธีการสึกให้เปลื้องจีวร โดยจะกล่าวคำลาสิกขาด้วยหรือไม่ก็ได้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ พศ. ที่เกี่ยวข้องบันทึกลงฐานข้อมูลลงระบบทางออนไลน์ด้วย เป็นต้น
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎเรื่องการลงนิคหกรรม ตราไว้ตั้งแต่ปี 21 จนถึงปัจจุบัน 47 ปีแล้ว ยกตัวอย่างเช่นมีการบัญญัติไว้ว่า เมื่อพบพระก็ทำผิดพระธรรมวินัยในยุคสมัยนั้นมีเพียงพยานบุคคลหรือพยานเอกสารและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ลับหูลับตาผู้คน กฎกติกาที่เขียนในเวลานั้นก็มีขั้นตอนกว่าจะเป็นที่ยุติใช้เวลานาน ทำให้กว่าจะได้ข้อสรุป และยังมีความคลุมเครืออยู่เสมอ แต่ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าหลายเคส มีพยานหลักฐาน ทั้งทางเทคโนโลยี และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มีคลิป มีแชท จำเป็นจะต้องกำหนดกฎขึ้นมาใหม่เพื่อให้นำหลักฐานเหล่านี้เข้ามาสู่การพิจารณาในกระบวนการได้ แต่ย้ำว่าเรื่องพระธรรมวินัย อำนาจการพิจารณาใครผิดใครถูกยังเป็นของคณะสงฆ์ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ไม่ได้เป็นผู้ชี้ขาด แต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูล พยานหลักฐานที่ได้มา ก็อาจมาจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีผู้มาแจ้งเบาะแส ก็จะนำส่งต่อให้คณะสงฆ์ในชั้นปกครองพิจารณา และสุดท้ายต้องมีกรอบเวลาในการพิจารณาต้องเสร็จภายใน 10 วันเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน และการวินิจฉัยถือเป็นการสิ้นสุด
โดยขั้นตอนหลังจากที่ประชุมมีมติมหาเถรสมาคมในวันนี้ จะมีการตามขั้นตอนเพื่อตราเป็นกฎมหาเถรสมาคม และลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ ให้มีผลตามประกาศต่อไปโดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนบรรยากาศที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ในการประชุมมหาเถรสมาคม มีกรรมการมหาเถรสมาคมเข้าร่วม โดยมี สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร พร้อมด้วย สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระพรหมมุนี วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร พระพรหมวชิรเวที วัดปทุมวนาราม พระพรหมดิลก วัดสามพระยา พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระพรหมวชิรรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมวชิรวิมล วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมวชิรมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม พระพรหมวชิรากร วัดราชผาติการามวรวิหาร พระพรหมกวี วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
โดยมี นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม เข้าร่วม -สำนักข่าวไทย