โรงแรมเดอะ บาซาร์ แบ็งคอก รัชดาภิเษก 26 พ.ย.-เลขาธิการศาลฯเผย เตรียมปฎิรูปศาลทหาร – ตั้งคอร์ท มาร์แชล ล่าพวกหนีคำพิพากษา – ชี้คดีครูจอมทรัพย์เข้าข่าย เบิกความเท็จ – อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานการปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาสื่อมวลชนเพื่อการประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรม (สศย.)รุ่น1 และมอบใบประกาศเกียติคุณ แก่สื่อมวลชนหลากหลายแขนงที่เข้ารับการอบรม โดยนายสราวุธ ในฐานะคณะกรรมการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวตอบคำถามถึง กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุถึงการเสียชีวิตน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารว่า ขั้นตอนตั้งเเต่เมื่อเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนชันสูตรศพ การทำสำนวนคดีอาญาจนถึงมีคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของหน่วยงานทหารทั้งหมดซึ่งอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมเเละเคลือบเเคลงสงสัยว่าการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในระบบศาลไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม ,ศาลรัฐธรรมนูญ ,ศาลปกครองเเละศาลทหาร นั้น คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็มีทหารเป็นคณะกรรมการ คือพล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ซึ่งก็พูดชัดเจนว่า ในการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้จะรวมถึงศาลทหารด้วย ซึ่งในศาลทหารนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นที่ชัดเจน คือเรื่องกำหนดระยะเวลาการพิจารณาคดีจะต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาเท่าใดซึ่งจะกำหนดเป็นมาตราฐานในทุกศาล ส่วนประเด็นที่2 คืออำนาจของศาลทหารโดยคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯรวมทั้งกรมพระธรรมนูญศาลทหารไปดูว่าในต่างประเทศเรื่องอำนาจศาลทหารควรจะมีขอบเขตอย่างไรบ้าง
นายสราวุธ กล่าวว่าประเด็นเรื่องอำนาจพิจารณาคดีศาลทหารก็เป็นข้อเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า คดีลักษณะอย่างไรบ้างที่ควรอยู่ในอำนาจศาลทหารเเละคดีที่เกี่ยวพันกับพลเรือนต้องไปศาลทหารมากน้อยเเค่ไหน ซึ่งเเน่นอนว่าในหลักปัจจุบันนั้น ถ้าทหารกระทำความผิดกับพลเรือนจะต้องขึ้นศาลพลเรือน จึงมีเเนวคิดต่อไปว่าในบางกรณีที่เป็นทหารล้วนๆ กระทำความผิดเเต่เป็นเรื่องทั่วๆไป เช่น การกระทำความผิดอาชญากรรมที่เป็นคดีอาญาทั่วๆไปที่ไม่เกี่ยวกับวินัยทหารหรือภาวะการสงคราม ควรต้องมาขึ้นศาลพลเรือนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทางคณะกรรมการฯก็มีการเสนอเป็นประเด็นไว้ด้วยว่า ควรจะมีการทบทวนปรับปรุงเเก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เเนวทางใด เเต่คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกำลังพิจารณาดูอยู่
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในที่ประชุมของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมานั้นทางคณะกรรมการฯได้มีหยิบยกประเด็นเเละเสนอเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหารที่จะกำหนดให้คดีที่ทหารกระทำผิดคดีอาญาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่หรือวินัยในการทหารนั้นจะต้องขึ้นศาลพลเรือนซึ่งก็คือศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนนั่นเอง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนี คดีไม่ยอมรับโทษตามคำพิพากษาจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร นายสราวุธกล่าวว่า กรณีการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนี นั้นเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามในสังคมบ่อยครั้ง ซึ่งศาลไม่มีหน้าที่ในการติดตามตัวแต่เป็นหน้าที่ของทางบ้านเมือง ทั้งนี้ในการ เสนอแนวทางปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมนั้นมีการเสนอให้ตั้งหน่วยงานคอร์ท มาร์แชล ขึ้นมามีหน้าที่ติดตาม จำเลยที่หลบหนีและ ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้พิพากษาในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ทั้งนี้คาดหวังว่า ในอนาคตหากได้รับงบประมาณ ในการจัดตั้งหน่วยคอร์ท มาร์แชล ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะเป็นผู้กำกับดูแล และควบคุมการปฏิบัติการ ซึ่งในอนาคตจะช่วยแก้ปัญหาจำเลยหลบหนีคดีได้
ส่วนการรื้อฟื้นคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ครูใน จ.สกลนคร นายสราวุธ กล่าวว่า คดีดังกล่าวถือว่า เข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นคดีไปแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมที่เคยตัดสิน เพราะศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำมาไต่สวนนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ โดยคดีนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่ผลออกมาเช่นนี้ ซึ่งคดีต่างๆ ศาลก็ได้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักความน่าเชื่อถือของพยานและตรรกะความสมเหตุสมผล ขณะที่การทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเราไม่ขอวิจารณ์กล่าวถึงหน่วยงานอื่น ศาลก็ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ที่สุด
ส่วนที่คำพิพากษาศาลฎีกาได้ระบุถึงขบวนการจ้างคนรับผิดมาอ้างเป็นพยานหลักฐานใหม่ ในคดีนี้ถือเป็นคดีแรกหรือไม่ นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ในคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นลักษณะเช่นนี้มาก่อน
เมื่อถามถึงองค์ประกอบความผิดการเบิกความเท็จหรือให้การเท็จว่า การจะเป็นความผิดนั้นเพียงรู้แค่บางส่วน หรือรับรู้ทั้งหมด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความผิดเมื่อเบิกความเท็จข้อสำคัญในคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
นายสราวุธ ยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยไม่รอแผนการปฏิรูป เช่นการแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำเพราะปัจจุบันในเรือนจำมีนักโทษร้อยละ 70-80 ที่มาจากปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังหาทางแก้ไข รวมถึงการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณาสำนวนคดี โดยอนาคตจะต้องมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานว่าในหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจะใช้กรอบเวลาเท่าใดเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเรื่องการประชุมระบบ Video Conference ซึ่งประหยัดการเดินทางและระบบการยื่นฟ้องแบบ E filing ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลในการยื่นฟ้องยื่นคำร้อง.-สำนักข่าวไทย