กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – คมนาคมเดินหน้ารณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่หลายหน่วยงานเร่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ทั้งการติดตั้งระบบจีพีเอส ปรับปรุงสภาพถนน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถนนทั่วไทย ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่า นโยบายสูงสุดของกระทรวงคมนาคม คือ ความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งที่ผ่านมาสถิติการเกิดอุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ที่จะต้องมีการรณรงค์ตลอดเวลา โดยเฉพาะวัฒนธรรมความปลอดภัยที่มีการพูดถึงบ่อยครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น หรือ MLIT ดำเนินมาตรการเพื่อลดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตบนท้องถนน ซึ่งญี่ปุ่นสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากหลักหมื่นเหลือ 4,000 คนได้ โดยเน้นเรื่องระเบียบวินัยและมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ MLIT ส่งคณะทำงานเข้ามาสำรวจจุดเสี่ยงบนถนน 50 จุดทั่วประเทศ โดยนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และขอนแก่น และจะนำข้อเสนอของคณะทำงานญี่ปุ่นไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มความปลอดภัยการออกแบบทางลักษณะ Forgiving Highways โดยลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุให้มากที่สุด ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาเน้นสร้างถนนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การเสริมอุปกรณ์ป้องกันในทาง รวมถึงการออกแบบถนนรองรับวิถีชีวิตของชุมชนและคนเดินถนนด้วย นอกจากนี้ ยังกำชับให้กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพนักงานขับรถให้มีความพร้อม และอาจเพิ่มความถี่หรือพัฒนานวัตกรรมตรวจสภาพรถและจัดอันดับผู้ประกอบการชั้นดี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตื่นตัวตลอดเวลา
ด้านนายสนิท พรมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะระบบจีพีเอสนำร่องตั้งแต่ปี 2559 โดยนำมาบังคับใช้ตามกฎหมายกับทั้งรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะต้องมีการติดตั้งระบบจีพีเอส ส่วนการรณรงค์ความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญ 3 ข้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกทุกพื้นที่ทั่วประเทศร่วมมือกันปฏิบัติ ให้ได้ตามเป้าหมาย คือ 1.ต้องดูแลให้มีรถสาธารณะให้บริการที่เพียงพอ 2. ผู้ขับรถสาธารณะและพนักงานประจำรถทุกคนต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ และ 3. ประชาชนที่ใช้บริการ รถสาธารณะจะต้องมีสถิติการเสียชีวิตเป็นศูนย์เช่นกัน
นายสุจิณ มั่งนิมิต ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมถนน 50 เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ เพื่อเตรียมจัดหาเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนการปรับปรุงถนนทางหลวงที่เป็นจุดเสี่ยงรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางภาคอีสานทางหลวง 304 บริเวณทางลงเขาโทน ภาคใต้ ทางลงเขาป่าตอง ใกล้วัดสุวรรณคีรีวงศ์ และภาคเหนือดอยนางแก้ว ช่วงรอยต่อจังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย
นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยทาง กรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทนำข้อมูลถนนที่เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในรอบ 3 ปี เป็นพื้นที่นำร่องแก้ปัญหาอุบัติเหตุร่วมกับคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น ล่าสุดสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว 1 สายทาง คือ ถนนเข้าสู่แหล่งที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี สำหรับถนนทางหลวงชนบทที่ใช้เป็นพื้นที่นำร่อง เช่น ถนนเข้าสู่แหล่งอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรปราการ ถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งชนบท จังหวัดนครราชสีมา ถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดสตูล ถนนเข้าสู่ระบบการขนส่ง จังหวัดชลบุรี ถนนผังเมือง ถนนวงแหวนรอบกลาง จังหวัดเชียงใหม่ ถนนเลียบคลองชลประทาน ถนนการวช้งานหลากหลาย จังหวัดปทุมธานี และถนนบนภูเขา จังหวัดเลย
นายสุเมธ องคกิติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนวทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ว่า จะต้องเริ่มปรับความคิดของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนน โดยต้องเปลี่ยนจากการอำนวยความสะดวกการเดินทางเป็นการอำนวยความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยภาครัฐควรต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับการใช้งานของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางม้าลายที่เป็นมาตรฐานที่เด็ก คนพิการ คนชรา ก็สามารถใช้งานได้ รวมถึงสัญญาณไฟจราจร และการสร้างทางต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้ใช้ถนนอื่น ๆ ไม่เฉพาะผู้ขับขี่รถเท่านั้น โดยขณะนี้หน่วยงานภาครัฐดำเนินแผนป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุ ด้วยการเร่งทำ Forgiving highway ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ใช้ถนน นอกจากนี้ ผู้ใช้ถนนก็ควรลงทุนกับเรื่องความปลอดภัยของตัวเองให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย