กรุงเทพฯ 25 พ.ย. – วงเสวนา “ความมั่นคงทางอาชีพและทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในยุคจักรกลอัตโนมัติ” นักวิชาการ-ภาคเอกชนร่วมกันหาทางออก เตรียมความพร้อมเด็กไทยก้าวสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติ
การเสวนาทางวิชาการ “ความมั่นคงทางอาชีพและทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในยุคจักรกลอัตโนมัติ” นายเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีคณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติมาทำงานแทนที่มนุษย์ ทำให้แรงงานบางสาขาอาชีพอาจไม่มี ประเทศไทยจึงต้องกำหนดทิศทางใหม่ในอนาคต ปรับระบบการศึกษา และทักษะแรงงานให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน จะร่วมมือกันเตรียมเด็กไทยให้พร้อมกับโลกแห่งเทคโนโลยีและอาชีพใหม่ ๆ รับมือกับปัญหาในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายฟุ เหวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สะท้อนมุมมองจากผลศึกษา “อาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน : อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ” ที่สำรวจความคิดเห็น 4,000 บริษัท และนักเรียนนักศึกษา 2,700 คน ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าระบบจักรกลอัตโนมัติจะมาทดแทนแรงงานคน ปรากฎชัดในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนไทยมีแนวโน้มเช่นกัน เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและต้องการเพิ่มกำลังการผลิต คาดว่าจะมีแรงงานในภูมิภาคโดยเฉลี่ยร้อยละ 40 เสี่ยงจะได้รับผลกระทบนี้
สำหรับประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO กล่าวว่า อาจมีแรงงานถึง 17 ล้านคน เสี่ยงจะถูกระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาแทนที่และมีโอกาสเกิดกับแรงงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 50 และแรงงานที่จบระดับประถมศึกษาเสี่ยงตกงานมากกว่าระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 90 ทักษะการทำงานคนรุ่นใหม่ควรมี คือ ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ การปรับตัวทำงานในขอบเขตงานและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถสื่อสาร พร้อมมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ โครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยุคโรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์ (Ai) มาเร็วและแรงกว่าที่คิด ปัจจุบันในห้องทดลองสมัยใหม่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคน ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ amazon.com ใช้เทคโนโลยีบริหารคลังสินค้า กลุ่มอาลีบาบาใช้ระบบประมวลผลปล่อยกู้แก่ร้านค้าและนักกฎหมายในสหรัฐใช้เว็บไซต์วิเคราะห์แนวโน้มคำตัดสินของผู้พิพากษา ปัจจัยที่เร่งให้ยุคโรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นเร็ว คือ แรงกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องแข่งกันลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และคนรุ่นใหม่ที่กับคุ้นเคยเทคโนโลยีอย่างดี
นายสุพจน์ เสนอว่า ระบบการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องก้าวตามให้ทัน ไม่เน้นเพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ต้องยกระดับการศึกษาเฉพาะบุคคล เฉพาะสาขา และต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะอนาคตแรงงานหนึ่งคนจะไม่ได้ทำอาชีพเดียวแต่อาจต้องทำถึง 3-4 อาชีพ ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่จึงสำคัญ สถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับเพื่อพัฒนาคนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เข้ามา
นางสาวสินีนาฏ เสริมชีพ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เช่น ธนาคารพาณิชย์ปิดสาขาถึง 200 แห่ง และแนวโน้มบริษัทข้ามชาติที่เคยผลิตในประเทศที่ต้นทุนค่าแรงงานถูกก็จะย้ายกลับไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะหุ่นยนต์และ Ai ทำหน้าที่แทนมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและการย้ายกลับทำให้อยู่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากกว่าประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบโลกยุค 4.0 ว่าเหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ที่ต้องลดจำนวนแรงงานลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้คนเกิดความรู้สึกว่าถูกคุกคามหรือเป็นปฏิปักษ์กับเครื่องจักรกลควรปรับให้เกิดสมดุล โดยให้แรงงานเข้าถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะเจ้าของทุน สหภาพแรงงานต้องมีความเข้มแข็งสามารถต่อรองเรื่องหลักสูตรการฝึกอบรม เพื่อยกระดับทักษะให้แรงงาน รัฐบาลควรมีนโยบายเพิ่มเงินชดเชยประกันการว่างงาน และใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจนายจ้างให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานในอนาคตด้วย
นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนผู้ทำโครงการเพื่อสังคมด้านการศึกษา พบว่าเด็กรุ่นใหม่มีความสามารถเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้ดี แต่ยังขาดทักษะที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับโลกอนาคตให้กับเด็ก ๆ ในฐานะเอกชน ซัมซุงได้ริเริ่มโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน โดยเด็กๆจะได้เรียนรู้ในแบบ Active Learning ลงมือทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้คิดวิเคราะห์ ทำงานสร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง .-สำนักข่าวไทย