สนช.เห็นชอบร่าง กฎหมายลูกว่าด้วยศาลรธน.วาระ 3 เพิ่มอำนาจออกมาตรการชั่วคราวบังคับหน่วยงานดำเนินการได้ และไม่รีเชตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถมคนที่พ้นวาระให้สรรหาใหม่ เมื่อมีคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 60 หลังมีสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (23 พ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 และ 3
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถออกมาตรการชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น โดยคำร้องของผู้ร้อง จะต้องมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัย เพื่อออกคำสั่งไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ปฏิบัติตามในกรอบเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งมาตรการชั่วคราวนี้ จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ และภายใน 30 วัน หาก ส.ส. มีการเสนอญัตติ และมีมติรับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการตามมตินั้น และกมธ.ปรับแก้สถานะการคงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แม้ว่าจะมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะ ตุลาการฯปัจจุบัน เข้ามาทำหน้าที่และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่อยู่รักษาการตามคำสั่ง คสช. นั้น ให้อยู่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่
นายอุดม รัฐอมฤติ กรธ. ซึ่งกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการ เพิ่มอำนาจให้ศาลฯออกมาตรการชั่วคราวได้ เพราะถือเป็นการให้อำนาจศาลเกินขอบเขต และเกรงจะเกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการที่ดูแลอำนาจหน่วยงานที่ใช้อำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ หากให้อำนาจนี้อาจเกิดปัญหาตามมา และอาจถูกมองว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ทางการเมือง เช่น หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตดำเนินการสิ่งใด แต่ศาลออกมาตรการชั่วคราวให้ระงับ จะทำให้ศาลถูกครหาได้ อีกทั้งตามหลักสากล ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวางตัวเป็นกลาง
ด้านนายบรรเจิด สิงคเนติ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ยังคงยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องมีอำนาจการออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคำร้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิประชาชน สามารถยื่นคำร้องฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยตรง แต่หากศาลไม่มีอำนาจ หรือเครื่องมือไประงับยับยั้ง หรือออกมาตรการใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ จึงมีความจำเป็น และจะต้องมีมาตรการนี้ ขณะเดียวกัน หลังการออกมาตรการ ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบอยู่แล้ว จึงถือเป็นมาตรการทั่วไป สำหรับทั่วโลกที่มีศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กังวลว่า การส่งคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ มาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. ตรวจสอบ อาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการ จึงเสนอให้ตัดขั้นตอนที่ต้องส่งมาให้ ส.ส. ตรวจสอบ เพราะในอนาคตหากรัฐบาลมีเสียง ส.ส. ข้างมากในสภา ส.ส. อาจโหวตคว่ำมาตรการชั่วคราวนั้น โดยเฉพาะกรณีที่ศาลวินิจฉัยไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และเห็นว่า การบัญญัติให้ ส.ส. ตรวจสอบการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่รับรองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันหน่วยงานรัฐ
ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าวกว่า 1 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ข้อสรุป ประธานในที่ประชุม จึงสั่งพักการประชุมไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้กรรมาธิการได้หารือกันนอกรอบ จนในที่สุด กรรมาธิการฯจึงยอมตัดขั้นตอนการส่งมาตรการชั่วคราวมาให้ ส.ส. ตรวจสอบ และ สนช. ยังมีมติเสียงข้างมากให้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาตรการชั่วคราวได้ ตามที่กรรมาธิการบัญญัติขึ้นใหม่
ส่วนประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ.ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วย และยืนยันให้รีเซตตุลาการที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด การทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ จึงจะต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ถูกโต้แย้งการทำหน้าที่ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช. ก็ควรให้ทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่
ด้านสมาชิก สนช.เสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 4 คน และที่อยู่รักษาการอีก 5 คน อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ และเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ จนกว่าจะมีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ มีความสง่างาม และป้องกันประเด็นทางการเมือง จากนั้น กรรมาธิการฯ ยอมปรับแก้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช.นั้น จะเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ หลังการเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. เพื่อให้มีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. ก็มีมติเสียงข้างมากตามที่กรรมาธิการฯ แก้ไข โดยกระบวนการสรรหา การตรวจสอบคุณสมบัติ การลงมติของ สนช. และขั้นตอนทูลเกล้าฯ น่าจะใช้เวลาระยะเวลารวมประมาณ 200 วัน
จากนั้น ที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปให้ กรธ. และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนจะส่งความเห็นกลับมายัง สนช. เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย หรือหากทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นว่าไม่มีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประธาน สนช. ก็จะส่งร่างกฎหมายไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป.สำนักข่าวไทย
