มหาสารคาม 20 พ.ย.- ทำสำเร็จ นักวิจัย มมส. นำข้าวทุ่งกุลาร้องไห้แปรรูปเป็นข้าว Low GI มีคุณสมบัติปล่อยปริมาณน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ทดลองบริโภค 3 เดือน ได้ผลใกล้เคียงรักษาด้วยยา พร้อมเดินหน้าต่อยอด
ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13 “จากท้องถิ่นสู่สากลในบริบทประเทศไทย 4.0” ที่ห้องประชุมแม่น้ำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ในงานวิจัยของอาจารย์นิสิตนักศึกษาและนักวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิชาการ ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ซึ่งปีนี้จำนวนผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมมีทั้งหมด 216 เรื่อง หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่น คือ การนำข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มาผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นข้าว Low GI ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติระหว่างการย่อยอาหาร ข้าวชนิดนี้จะค่อย ๆ ปล่อยปริมาณน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด
รศ.ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน อธิบายว่า ค่า GI หรือ Glycemic Index (ไกลซิมิก อินเดกซ์) เป็นดัชนีวัดอัตราความเร็วว่าอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเร็วแค่ไหน โดยข้าวหอมมะลิหรือข้าวสารทั่วไปมีค่า GI อยู่ประมาณระดับที่ 90 ฉะนั้นข้าวเมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปจะทำให้ GI ลดต่ำกว่าระดับ 55 จึงเรียกข้าวนี้ว่าข้าว Low GI และได้นำไปให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ลองบริโภคเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าให้ผลตอบรับที่ดี ค่าน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ให้ผลใกล้เคียงกับการรักษาแบบให้ผู้ป่วยกินยารักษาเบาหวาน แต่ข้อดี คือ เมื่อรับประทานข้าว Low GI ไม่ต้องทานยา เพราะการทานยาในระยะยาวจะมีผลข้างเคียงต่อไต
รศ.ดร.ศิริธร กล่าวว่า ล่าสุดได้ร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายในร้านค้าเพื่อสุขภาพแล้ว ซึ่งอนาคตจะต่อยอดงานวิจัย แปรรูปข้าว Low GI ในรูปแบบต่าง ๆ และวิจัยให้ได้ข้าวที่มีคุณประโยชน์แก่สุขภาพผู้บริโภคที่ดียิ่งขึ้น ผู้สนใจรายละเอียดสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดหรือข้อมูลงานวิจัยได้ที่คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-754333 ต่อ 1822. -สำนักข่าวไทย