กทม. 16 พ.ย. – ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 8,000 แห่ง ที่ชัดเจนออกมา แต่นักวิชาการเห็นว่าควรทยอยจัดเลือกตั้งในแต่ละระดับ เทศบาล อบต.อบจ. และเขตปกครองพิเศษ พร้อมๆ ไปกับการทยอยปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
แม้จะมีคำท้วงติงจากคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้จัดการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำนวนหน่วยเลือกตั้งและประเด็นร้องเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมารวมถึงกรณีที่มีการทุจริตเป็นจำนวนมาก หากจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 8,000 แห่งก่อน หากมีปัญหาร้องเรียนเรื่องทุจริตเพียงแห่งละหนึ่งเรื่องจะทำให้การเลือกตั้งวุ่นวายได้ ซึ่ง กกต.เห็นว่าควรจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน เพราะมีจำนวนแค่ 350 เขต เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ คสช. และรัฐบาลควรตัดสินใจให้ดี
รายงานจากสำนักงาน กกต. ระบุว่าจำนวนสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8,410 แห่ง และทยอยครบวาระในปี 2557 มีจำนวนสมาชิกและผู้บริหารครบวาระ 689 แห่ง ปี 2558 จำนวน 940 แห่ง ปี 2559 จำนวน 3,217 แห่ง และปี 2560 จำนวน 3,564 แห่ง
นักวิชาการมองว่าควรแบ่งจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น เริ่มที่เลือกตั้งเทศบาลกว่า 2,000 แห่ง หรืออบจ. หรือเมืองพัทยา ก่อนจะจัดเลือกตั้ง อบต. 5,000 แห่ง ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรไว้ลำดับท้ายสุด
นักวิชาการยังมองว่าแท้จริงแล้ว คสช. ควรปล่อยให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปตามกรอบเวลา ตามธรรมชาติและควรปลดล็อกพรรคการเมืองบางส่วนก่อน เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จากนั้นทยอยปลดล็อกไปเรื่อย ๆ จนถึงการเลือกตั้งทั่วไประดับชาติ
การตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นของ คสช. ครั้งนี้ อาจเป็นการหยั่งเชิงประชาชนว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่แล้วหรือไม่ และอาจจะเป็นบททดสอบของ คสช. ถึงบริหารจัดการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่. – สำนักข่าวไทย