กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – คมนาคมตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ขับเคลื่อนรถไฟไทย-จีน มั่นใจสิ้นเดือนนี้เสนอ ครม.อนุมัติแบบก่อสร้าง ปักเสาเข็มแน่กลางเดือนธันวาคม พร้อมเดินหน้าเปิดประมูลช่วง 2 , 3, 4 ไตรมาส 1 ปีหน้า มั่นใจทั้งโครงการเสร็จถึงหนองคายปี 2565 เชื่อมต่อประเทศลาว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เบื้องต้นขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รอผลการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สรุป ช่วงบ้านภาชี-โคราช ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแบบก่อสร้างภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะสามารถก่อสร้างเส้นทางกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ภายในกลางเดือนธันวาคม 2560 ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2-3-4 นั้น จะก่อสร้างได้หลังจากจีนส่งแบบก่อสร้างมาไทยและสร้างได้ในไตรมาส 1 ปี 2561
สำหรับแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น ก่อนหน้านี้ไทย-จีนมีการลงนามในสัญญา 2.1 และ 2.2 เพื่อให้ฝ่ายจีนส่งแบบก่อสร้างมาให้ไทยก่อนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง โดยการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร เส้นทางกลางดง-ปางอโศกนั้น จะให้กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนงบประมาณทาง รฟท.จะเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณ
ขณะที่การออกแบบโครงการอีก 3 ช่วงที่เหลือ ได้แก่ ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตรนั้น ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบโครงการให้เร็วและส่งให้ไทยภายใน 6 เดือน หากช่วงใดออกแบบเสร็จและไทยถอดแบบเสร็จก็สามารถเปิดประมูลได้ทันที คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2561จะเริ่มเปิดประมูลได้
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายจะต้องเสร็จปี 2565 แน่นอน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟไทย-จีนของประเทศลาวที่จะเปิดให้บริการปี 2565 ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น จะเป็นแหล่งเงินกู้ในประเทศทั้งหมด ส่วนระบบรถ ตัวรถ ระบบรางนั้น จะมาหารือกับฝ่ายไทยอีกครั้งหนึ่ง
นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีนประกอบด้วย 4 คณะ คือ1.อนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยมี รมช.คมนาคม เป็นประธาน 2.อนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเข้ามาดูการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงประสานงานกับสถาบันการศึกษาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3.อนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และ 4.อนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมือง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเข้ามารับหน้าที่ดูความพร้อมการพัฒนาพื้นที่รอบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเมืองที่ล้อมรอบ.-สำนักข่าวไทย