กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ผลสำรวจผู้มีรายได้น้อย พบส่วนใหญ่ทำการเกษตร ไม่มีหนี้นอกระบบ พร้อมต้องการให้รัฐช่วย 5 ด้าน อันดับแรกค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันการศึกษาสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 18 สิงหาคมที่ผ่านมา จำนวน 13.43 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียน 10.46 ล้านคน พบว่า ผู้ลงทะเบียนมีรายได้จากการประกอบอาชีพและรายได้อื่น ๆ ในปี 2559 ต่ำกว่า 30,001 บาท ร้อยละ 51.6 รองลงมามีรายได้ 30,001 – 100,000 บาทต่อปี ร้อยละ 27.8 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19 และมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี ร้อยละ 1.3
ส่วนสภาพความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.3 มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ไม่ต้องผ่อนชำระ ร้อยละ 68.3 รองลงมา คือ อาศัยอยู่กับบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง ร้อยละ 25.9 และอาศัยอยู่กับผู้อื่น เช่น เพื่อน คนรู้จัก วัด ร้อยละ 3 ด้านอาชีพและการทำงาน อันดับ 1 ทำการเกษตรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร้อยละ 31.7 รองลงมา คือ ลูกจ้างเอกชนและรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.2 และอยู่บ้านเฉย ๆ เช่น พ่อบ้าน แม่บ้าน คนชรา ร้อยละ 21.6 ตามลำดับ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในบ้านส่วนใหญ่ต่ำกว่า 3,001 บาทต่อเดือน มากที่สุดถึงร้อยละ 34.1 รองลงมา 3,001 – 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 29.2 และ 5,001 – 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 15.1 ขณะที่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายร้อยละ 16.9 สำหรับรายได้จากบุคคลที่เป็นหลักในการอุปการะเลี้ยงดู ส่วนใหญ่ไม่ได้รับสูงถึงร้อยละ 51 รองลงมารับจากบุตรธิดา ร้อยละ 17.3 และเงินสวัสดิการของรัฐ ร้อยละ 16.5
ขณะเดียวกันในจำนวนนี้ไม่มีหนี้นอกระบบสูงถึงร้อยละ 85.9 ส่วนกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบคิดเป็นร้อยละ 13.7 โดยยอดหนี้นอกระบบสูงสุด คือ มากกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 10.6 และรองลงมามีหนี้นอกระบบ 5,000 – 10,000 บาท ร้อยละ 1.5
สำหรับความต้องการ 5 อันดับแรกที่ประชาชนทุกภาคต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ อันดับ 1 ลดค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ประปา ร้อยละ 82.1 อันดับ 2 ลดภาระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 66.4 อันดับ 3 ลดภาระค่ารักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ ร้อยละ 47.2 อันดับ 4 เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา และอันดับ 5 ลดภาระค่าอุปกรณ์การศึกษาลูกหลาน ร้อยละ 30.7 ทั้งนี้ ภาครัฐจะนำข้อมูลดังกล่าววิเคราะห์และกำหนดนโยบายด้านสวัสดิการของรัฐให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีรายได้น้อยต่อไป. – สำนักข่าวไทย