สำนักงานกกต. 13 พ.ย.-สมชัย ระบุเตรียมส่งเรื่องศาลรธน.ตีความอปท.จัดเลือกตั้งท้องถิ่นขัดรธน.หรือไม่ ชี้อำนาจการจัดการหรือมอบหมายหน่วยงานใดควรเป็นของกกต.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า กกต.มีความพร้อม โดยสำรวจว่ามีท้องถิ่นที่จะต้องเลือกตั้งทุกประเภทรวม 8 พันกว่าแห่ง สิ่งที่เป็นห่วงไม่ใช่เรื่องการจัดการ เพราะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยช่วยจัดการเลือกตั้ง แต่เป็นห่วงเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง เพราะหากเลือกตั้งพร้อมกันทั้ง 8 พันกว่าแห่ง และมีคดีร้องเรียนเพียงแห่งละ 1 เรื่องจะเป็นภาระของกกต.อย่างมาก เพราะต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม หากมีปัญหาจะประกาศผลได้หรือไม่ จึงต้องเตรียมการรองรับไว้
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต.ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จัดเลือกตั้งว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในแง่การดำเนินการ รัฐธรรมนูญเขียนว่ากกต.มีอำนาจในการจัดการ โดยจะทำเองหรือมอบหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำก็ได้ ซึ่งกรณีทั่วไปกกต.จะมอบอปท.ช่วยจัดการ แต่ในบางหน่วยที่ไม่สามารถให้หน่วยราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเอง กกต.ควรมีอำนาจจัดการเอง
“ปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ได้ถึงขนาดจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หากมีการร้องในภายหลัง เพราะยังอยู่ในเงื่อนไขที่กกต.ดำเนินการให้มี จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งจึงถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ในบางพื้นที่ ๆ องค์กปกครองท้องถิ่นหรือหน่วยราชการทำไม่ได้ กกต.ควรจะดำเนินการได้เอง ซึ่งเป็นประเด็นที่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และขอฝากไปถึงรัฐบาลว่าการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ใดเป็นอำนาจและการประเมินของคสช.ว่าจะให้มีการเลือกตั้งในระดับใดและสามารถผ่อนคลายในพื้นทีใดบ้าง แต่เมื่อปลดล็อคแล้วกระบวนการจัดการน่าจะต้องเป็นบทบาทของกกต.ที่จะต้องประชุมว่าจะมอบหมายให้ใครจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยราชการหรือท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งก็ได้ เป็นเรื่องที่กกต.ชุดใหม่จะตัดสิน ไม่ใช่อยู่ดี ๆ รัฐบาลกำหนดว่าใครเป็นคนทำ อย่างนี้ไม่ถูก เพราะกกต.ต้องเป็นคนกำหนด” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวถึงปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมือง ว่า อยากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาให้ความเห็น โดยเฉพาะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่เป็นผู้ร่างกฎหมายว่าความเห็นของตนถูกต้องหรือไม่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนให้ตนเองฉลาดขึ้นด้วย และอยากให้คนในสังคมช่วยกันให้ทำตอบที่ถูกต้องดีกว่าไปถามประชาชนที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย และคำตอบจากประชาชนไม่ได้หมายความว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องในเชิงของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้เป็นการถามในเชิงทัศนคติ
“ผมเห็นว่าคนที่จะใช้กฎหมายต้องอยู่บนหลักที่ถูกต้องเป็นธรรม อย่าคิดเพียงว่าเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน ก็ตอบเอาใจซึ่งกันและกัน เพราะท้ายสุดจะก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนนายกฯจะรับฟังความเห็นหรือไม่เป็นเรื่องของนายกฯ” นายสมชัย กล่าว.- สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/11/1510563246723.jpg)