กรุงมะนิลา 13 พ.ย.- นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 แบบเต็มคณะ เสนอแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียน ด้วยการสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง เร่งลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไป จัดระบบการเพิ่มความโปร่งใส ให้กับมาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน เน้นความเชื่อมโยงกันระหว่างอาเซียน กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และภูมิภาคอื่นอย่างเป็นระบบ และต้องเสริมสร้างรักษาความเป็นแกนกลางอาเซียน
เพ็ญพร พิพัฒโนทัย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตามคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย. รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 แบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นอีกครั้ง รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบในปีที่อาเซียนครบรอบ 50 ปี ซึ่งอาเซียนจะยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป ในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยยึดหลักการและแนวทาง การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง เน้นนวัตกรรม และยึดมั่นกติกา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก นอกจากนี้ ยังควรเร่งลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไป และจัดระบบการเพิ่มความโปร่งใสให้กับมาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน (Non-Tariff Measures-NTM) และต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่อาเซียนควรเร่งดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการ การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย ซึ่งไทยแสดงความขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่เห็นชอบในหลักการข้อริเริ่มของไทยที่จะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ภายในปี 2562 การบริหารจัดการด้านการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติในภูมิภาค และ การต่อต้านปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้มองความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนให้เป็นการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และโลกอย่างเป็นระบบ ซึ่งไทยให้ความสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน ผ่านรูปแบบความร่วมมือประเทศไทย + 1 ที่สามารถขยายและเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเชื่อมโยงความเจริญในลุ่มแม่น้ำโขงกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยผ่านอาเซียน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพของญี่ปุ่น หรือกรอบอื่น ๆ นั้น อาเซียนต้องเป็นผู้นำในการสอดประสานแผนความเชื่อมโยงของทุกกรอบเหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อเป็นภาพเดียวกัน และขยายไปเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของโลกกลุ่มอื่น ๆ เช่น BRICs หรือ G20 เพราะสุดท้ายแล้ว ผลที่ได้รับจะกลับมาส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนให้เพิ่มขึ้น ในการนี้ การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างธนาคาร และสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยระดมทุนสำหรับการพัฒนาโครงการความเชื่อมโยงให้มีลักษณะบูรณาการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้เสนอเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะการเสริมสร้างและรักษาความเข้มแข็งของแกนกลางอาเซียน (ASEAN Centrality) ภายในสถาปัตยกรรมภูมิภาคในโลกที่มีพลวัตและความท้าทายรอบด้าน อาเซียนควรจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมั่นในระบบภูมิภาคนิยม และเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในระบบพหุภาคีนิยม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามภายนอกภูมิภาค ที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี และเห็นว่า อาเซียนควรเริ่มศึกษาแนวคิดของกรอบความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพและอำนาจต่อรองของอาเซียนในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง.- สำนักข่าวไทย