กรุงเทพฯ 10 พ.ย.-กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เสนอทางออก ครม. – กทม. แก้ข้อพิพาทชุมชนป้อมมหากาฬ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวกรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน โดยกรุงเทพมหานครให้ชุมชนย้ายออกภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเห็นว่าชุมชนป้อมมหากาฬเป็นการอยู่ร่วมกันของบุคคล โดยมีพื้นที่เป็นหลักแหล่ง มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ในการอยู่ร่วมกันมายาวนาน สมาชิกในชุมชนมีความผูกพันระหว่างกัน และมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกันอย่างมีแบบแผน จึงมีลักษณะเป็นชุมชนท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และสิทธิในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
นางเตือนใจ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาภายใต้โครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ “ป้อมมหากาฬ” แสดงให้เห็นแนวทาง ข้อเสนอแนะของชุมชนอันเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การอนุรักษ์อาคารบ้านไม้โบราณ ซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนได้อย่างไร
นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมายาวนาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีมติที่ประชุม เห็นควรให้มีข้อเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 247 (1) และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ตามตรา 247 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อคณะรัฐมนตรีและกรุงเทพมหานคร ดังนี้ แนวทางที่ 1 คณะรัฐมนตรีและกรุงเทพมหานคร ควรดำเนินการตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นความร่วมมือ ภายใต้กรอบข้อตกลงร่วม 3 ฝ่ายในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร และชาวชุมชนป้อมมหากาฬ โดยนำที่ดินจำนวน 8 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มาก่อนบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินการปรับปรุงวางผังและปรับปรุงชุมชนใหม่ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยให้สมาชิกชุมชนที่มีคุณสมบัติ สามารถอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขข้อบัญญัติที่กรุงเทพมหานครกำหนดขึ้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย
นางเตือนใจ กล่าวว่า แนวทางที่ 2 กรณีมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 กรุงเทพมหานครสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการแก้ไข หรือตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนเฉพาะบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการเวนคืนให้สอดคล้องกัน ในการดำเนินการดังกล่าวกรุงเทพมหานครควรดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศิลปากร และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
นางเตือนใจ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ให้สอดคล้องกับหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ด้วย ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักการว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หลายประการ เช่น การจ่ายค่าทดแทน ซึ่งต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับ การกำหนดให้คืนอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการใช้ประโยชน์และเจ้าของเดิมหรือทายาทประสงค์จะได้คืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนหลัก.-สำนักข่าวไทย