กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนนี้ กรณีคิงส์เกตฟ้องอนุญาโตตุลาการไทยปิดเหมืองทอง คาดเสนอ ครม. 7 พ.ย.นี้
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่า อังคารที่ 7 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถสรุปกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ต ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยหวังว่าคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น โดยคืนวันนี้ (3 พ.ย.) จะเร่งหารือทุกประเด็น พร้อมปรึกษาทีมทนายความต่างประเทศและหวังที่จะเจรจามากกว่าการเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ
นายพสุ กล่าวว่า บริษัท อัคราฯ มีความสนใจที่จะทำเหมืองแร่ต่อในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2516 ซึ่งเห็นได้จากการยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ซึ่งยื่นก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยื่นข้อมูลเพิ่มจากอัคราเช่นกัน ซึ่งการพิจารณาจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2516
ขณะที่นายรอส สมิธ-เคิร์ก ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ออกแถลงการณ์ว่าคิงส์เกตผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัคราฯ ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียเมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ว่า หลังจากใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว บริษัทฯ ไม่สามารถหาข้อยุติในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเหมืองแร่ทองคำชาตรีถูกสั่งระงับการประกอบกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น บริษัทฯ จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับไทยภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายอันมหาศาลที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันเกิดจากมาตรการของรัฐบาลไทย
สำหรับกระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการดำเนินการได้ และอาจมีค่าใช้จ่ายมหาศาลที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ทั้งยังไม่สามารถรับประกันผลการพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ยังอนุญาตให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจาหารือกันได้ เพื่อหาข้อยุติ ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับข้อตกลง ณ เวลาใดก็ตาม ในระหว่างกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายนี้ ซึ่งคณะกรรมการคิงส์เกตฯ เล็งเห็นว่ายังคงมีโอกาสในการได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางไทยและจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดต่อไป .- สำนักข่าวไทย