รัฐสภา 30 ต.ค. –5 สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ยื่นหนังสือถึงกมธ.เรียกร้องแก้ร่างกฎหมายกสทช.
ตัวแทน 5 สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ผ่าน พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ. กสทช. ใน 4 ประเด็น คือ ให้แยกประเภทคลื่นความถี่เป็นกิจการประเภทเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ชม(Pay TV) และไม่เรียกเก็บค่าสมาชิก(Free TV) โดยให้ผู้ประกอบการเลือกได้ว่าจะประกอบกิจการแบบใด
ขอให้แก้ไขประเภทใบอนุญาตโดยให้คงใบอนุญาตแบบประกอบกิจการบริการสาธารณะและบริการชุมชนไว้ แต่กิจการธุรกิจให้เสนอแผนใหม่ โดยเพิ่มรายการบริการสาธารณะและบริการชุมชน ขอให้ยกเลิกการจำกัดเวลาโฆษณายกเว้นช่วงเวลาที่ถ่ายทอดสดรายการประเภทผูกขาด ขอให้ทบทวนคุณสมบัติของกสทช. เปิดทางให้มีผู้บริหารองค์กรสื่อหรือผู้มีประสบการณ์ด้วยบริหารกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่า 10 ปี เข้าร่วมเป็นกรรมการกสทช. ด้วย โดยมั่นใจว่าข้อเสนอทั้งหมดจะทำให้กิจการสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุฟื้นตัวโดยเร็ว โดยไม่ต้องกังวลต่อข้อจำกัดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทั้งภาพและเสียง
ด้านพล.ร.อ.ทวีวุฒิ รับข้อเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการฯจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด และผู้ประกอบกิจการผ่อนคลายเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีแนวคิดที่จะหลอมรวมร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่เกี่ยวกับสื่อ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยปรับแก้รวมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติและให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งรัฐบาลส่งต่อให้กฤษฎีกา ก่อนที่กฤษฎีกาจะส่งกลับที่รัฐบาลอีกครั้ง เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาระยะหนึ่ง
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลจะมีแนวทางในการเยียวยาอย่างไร พล.ร.อ.ทวีวุฒิ กล่าวว่า กรรมาธิการมีหน้าที่พิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายเท่านั้น ส่วนเรื่องการเยียวยาเป็นหน้าที่ของกสทช.จะดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/10/1509337054253.jpg)