ทำเนียบรัฐบาล 18 ต.ค.-นายกฯ ขอความร่วมมือสื่อใช้เวลาช่วง 30 วัน ถึงวันที่ 13 พ.ย. เน้นเสนอรายการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุ ยืนยันว่ารัฐบาลยังดำเนินการทุกอย่างตามโรดแมป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการเตรียมการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยกล่าวขอบคุณข้าราชการตำรวจ ทหาร พลเรือน และเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายพระเกียรติยศได้เรียบร้อย ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างดี ทั้งความปลอดภัย การเดินทาง สุขภาพอนามัย อาหารการกินและที่พัก ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่วางแผนด้านการจราจรให้เรียบร้อย โดยเฉพาะวันเสด็จพระราชดำเนิน และภายหลังจากที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพได้ หากหน่วยงานใดประสบปัญหาให้รายงานมายังรัฐบาล โดยรัฐบาลได้ตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ที่ทำเนียบรัฐบาล หมายเลขโทรศัพท์ 1111
“รัฐบาลขอความร่วมมือให้สื่อโทรทัศน์และวิทยุใช้เวลาในช่วง 30 วัน จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เน้นการเสนอรายการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในแง่มุมต่างๆ โดยอาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้วยการสัมภาษณ์ความรู้สึก และประสบการณ์ที่น่าประทับใจ การถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดพร้อมกันในช่วงเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อพ้นจากช่วงเวลาเหล่านี้แล้ว อาจพิจารณาเสนอรายการปกติได้ แต่ควรเน้นการให้ความรู้ การพัฒนามากกว่าบันเทิง และเมื่อพ้นกำหนดช่วง 30 วันแล้ว ขอให้สถานีโทรทัศน์พิจารณาจัดรายการตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนเป็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมการเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุ โดยขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และให้ส่วนราชการอื่นๆ เตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้เรียบร้อยด้วย
“ขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงแก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำออกพระนาม การใช้ถ้อยคำภาษาที่เหมาะสม การแต่งกาย การปฏิบัติในเวลาเข้าถวายบังคมพระบรมศพ ตลอดจนวิธีแสดงความจำนงขอมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวาย ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เคยมีคำสั่งให้ถอดพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากสถานที่ใด มีแต่ขอให้รักษาทุกอย่างไว้เช่นเดิม แต่การใช้ถ้อยคำบางอย่างตามพระบรมฉายาลักษณ์ที่เคยใช้มา แต่เดิมอาจไม่เหมาะสม เช่น คำว่าทรงพระเจริญ หรือ ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา และหากจะต้องเปลี่ยนพระบรมฉายาลักษณ์ หรือติดผ้าดำขาวแสดงความไว้อาลัยให้ทำต่อเนื่องขณะการนำพระบรมฉายาลักษณ์เดิมออก ติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ใหม่ อย่าให้มีช่องว่างเป็นอันขาด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ในช่วงเวลา 30 วันแรก นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม ให้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยงดเฉพาะส่วนที่เป็นมหรสพหรือความบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี การร้องรำทำเพลง แต่ยังสามารถจัดงานประชุม งานมงคลสมรส กฐิน งานลอยกระทง งานบำเพ็ญกุศล หรือศาสนกิจตามประเพณีได้ การเลี้ยงหรือชุมนุมสังสรรค์ ที่ทำในอาคารและเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ตามที่จัดเป็นปกติหรือได้เตรียมการไว้แล้ว ก็ให้จัดได้ตามความเหมาะสม
“ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกวดขันระมัดระวังการเผยแพร่ภาพหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือยุยงให้เกิดความแตกแยก อันเป็นการสะเทือนจิตใจชาวไทยในยามนี้ และขอความร่วมมือประชาชน อย่าได้เผยแพร่ภาพหรือข้อความดังกล่าวต่อไปเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยแล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่มีการเสนอคำว่ามหาราชต่อท้าย พระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้ได้เพราะต้องดำเนิการตามขั้นตอน ซึ่งก่อนหน้านี้พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ยังไม่ทรงรับและทรงให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับประชาชนที่จะต้องดำเนินการ เช่นเดียวกับการที่ได้มีการเสนอสร้างพระบรมราชานุสรณ์ในขณะนี้ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องร่วมกันจัดพระราชพิธีพระบรมศพให้สมพระเกียรติยศ ซึ่งหากจะมีการดำเนินการต้องมีการขอพระบรมราชานุญาต
“ช่วงเวลานี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และช่วยกันสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ยืนยันว่าการดำเนินงานของรัฐบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ทั้งกฎหมายต่างๆ รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง จึงอยากขอร้องว่าอย่าสร้างปัญหาให้เกิดความล่าช้าและขอให้นึกถึงประเทศชาติมาก่อน นอกจากนี้รัฐบาลจะสานต่อโครงการตามพระราชดำริ รวมถึงน้อมนำกระแสพระราชดำรัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ การปฏิรูปเศรษฐกิจมาสร้างการรับรู้เพิ่มขึ้นด้วย ขอทุกคนอย่าหลงเชื่อข่าวลือทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่น ไว้ใจซึ่งกันและกันและฟังการชี้แจงจากรัฐบาล” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องของคนที่ไม่สวมใส่เสื้อสีดำ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่าไปต่อว่าบุคคลเหล่านั้น เพราะความพร้อมของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมาด้วยใจ รัฐบาลได้ให้คำแนะนำแล้วว่าสามารถติดริบบิ้นสีดำ และจัดจุดให้บริการย้อมผ้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณสถานทูตในต่างประเทศที่ได้จัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนร่วมการแสดงความอาลัย แสดงให้เห็นว่าคนไทยในต่างประเทศมีความเคารพสถาบันมาก แม้ขณะนี้มีคนที่เห็นต่างอยู่บ้าง แต่ก็ต้องให้อภัย ช่วงนี้ต้องให้ใจซึ่งกันและกัน ส่วนเรื่องของกฎหมายเป็นคนละเรื่อง อย่ากังวล เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนสงบนิ่งและแสดงความอาลัยต่อพระองค์ท่าน
“รัฐบาลจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร ผมจะพยายามทำให้สถาบันมีความเข้มแข็งให้ได้ ขอบคุณในความร่วมมือทุกอย่าง ผมรู้ทุกคนเสียใจเหมือนผมเสียใจ แต่พยายามทำให้ดีที่สุด ผมต้องพยายามมีสติ ใช้สติปัญญาในการเดินหน้าไปให้ได้ เพราะประเทศเราหยุดไม่ได้ แต่ความเสียใจห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน รักสามัคคีและเปลี่ยนความเศร้าโศกเสียใจเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่มีความหวัง เป็นประเทศที่มีความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ว่า เพื่อให้การบริหารงานสอดคล้องกับภาระหน้าที่ เพราะหากไม่มีคนทำหน้าที่จะมีผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณของกรุงเทพมหานครได้ ส่วนเรื่องกฏหมายให้เป็นไปตามขั้นตอน ขออย่าวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครผิดหรือถูกก่อนที่จะมีความชัดเจน.-สำนักข่าวไทย