สำนักข่าวไทย 22 ต.ค.- สปส. ยันขยายเพดานเงิน เก็บสมบท ร้อยละ 5 ในผู้มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาทขึ้นไป เพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน คาดเริ่มดีเดย์ ก.พ. ปี 61 ด้านนายจ้าง เห็นด้วยเพื่อประโยชน์ลูกจ้าง แต่ อยากให้ขึ้นตามความเหมาะสมสภาพเศรษฐกิจ ร้องขอให้ถามความเห็นแบงค์ชาติ และสภาพัฒน์ก่อน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการประกันสังคม กล่าวถึงความคืบหน้า การ ขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1,000 บาท ขณะนี้เรื่องดังกล่าว ผ่านทั้งการรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน และเสนอต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อรวบรวม เสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี และเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับแก้ถ้อยคำ จากนั้นกระทรวงแรงงานก็ยืนยัน และลงนามประกาศบังคับใช้ในราชกิจจา ซึ่งกระบวนทั้งหมดนี้จะเวลา อย่างน้อย 3 เดือน คาดว่าในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะเริ่มเก็บเงินสมทบในกลุ่มผู้ประกันตน ที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 -20,000 บาทขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งประโยชน์ที่ได้นอกจากเป็นเงินออมในผู้ประกันตนแล้ว ยังเป็นเงินช่วยเหลือในกรณีว่างงานอีกด้วย ถือว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น พร้อมยืนยันการเก็บเงินครั้งนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเงินกองทุนประกันสังคม ที่มีมากถึง 1.77 ล้านล้านบาท
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการฝ่ายค่าจ้างนายจ้าง ระบุว่า การขยายเพดานเก็บเงินสมบทนั้น นับเป็นประโยชน์กับตัวลูกจ้าง ในระยะยาวต้องมีเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่อยากให้ก่อน บังคับมีการหารือกันจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ทั้งสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศประเทศไทย เพื่อดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งหากมีการบังคับใช้เมื่อปี 2562 ก็ไม่สาย พร้อมกันนี้ เรียกร้องประกันสังคมให้ดำเนินการตรวจสอบเงินสมทบที่รัฐบาลต้องมีการร่วมจ่าย และยังคงค้างอยู่ จากที่ นายจ้าง และลูกจ้างต้องจ่าย ฝ่ายละ ร้อยละ 5 รัฐบาลจ่าย ร้อยละ 2.25 ซึ่งคาดว่าจะเป็นวงเงินสูงถึง 80,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ให้เกิดดอกผล
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) กล่าวว่า หากพิจารณาดีๆ การเพิ่มเงินสมทบก็ส่งผลดีต่อลูกจ้าง และส่งผลดีต่อนายจ้างในแง่การประกันให้ลูกจ้าง แต่ปัญหาคือ ยังไม่รู้รายละเอียด ว่าการเพิ่มเงินสมทบ มีอะไรเพิ่มบ้าง เห็นแต่ข่าวที่ออกมาเท่านั้น จึงไม่แน่ใจว่าผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างไร เพราะในกลุ่มตนไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่าจะประกาศเป็นกฎหมายในอีก 3 เดือนตามที่ข่าวระบุได้อย่างไร เพราะจริงๆแล้วแม้จะมีร่างกฎหมาย แต่ต้องผ่านที่ประชุมของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ก่อนหรือไม่ เพราะจนขณะนี้ก็ยังไม่มีการเรียกประชุม หรือแม้คณะกรรมการค่าจ้าง ก็ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมาฉันท์ แรงงานไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการขยายเพดานการเก็บเงินสมบท แต่ว่า ควรให้เวลาปรับตัวกับลูกจ้างด้วยเช่นกัน แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ และมองดูไม่น่าจะกระทบต่อผู้ที่มีเงินเดือนมาก แต่บางคนก็มีหนี้สินการขยายเพดานเงินสมบท อาจต้องให้เวลาลูกจ้างในการปรับตัว .-สำนักข่าวไทย