กรุงเทพฯ 16ต.ค. – 3 สถาบันการศึกษา เปิดผลงานวิจัยเจาะลึกงานพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่” เผย คือรากฐานสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันแถลงผลการวิจัยแนวทางขับเคลื่อน แนวพระราชดำริเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ภายใต้ชื่อ “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการจัดการครัวเรือน ชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่
โดยวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้รวบรวมพระราชดำริ ตลอดจนลงพื้นที่ศึกษาสภาพการพัฒนาในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 3ปี จนพบพระอัจฉริยภาพจากการค้นพบแนวปฏิบัติ ในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นลำดับ 3ขั้นตอน คือ ครัวเรือนพึ่งตนเอง ชุมชนรวมกลุ่มพึ่งตนเองได้ และชุมชนออกสู่ภายนอก
นอกจากนี้ยังได้ถอดบทเรียนความสำเร็จเป็น “บันได 7ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย การประเมินความพร้อมของกลุ่ม การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทุกขั้นตอน ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลองค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพและสุดท้ายสร้างทักษะการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งบันไดทั้ง 7ขั้น คือเครื่องมือที่จะร่วมกันพัฒนาตนและชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างสมดุลและต่อเนื่อง
ด้านนางนฤมล อรุโณทัย อาจารย์สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ไปศึกษาในบริบทชนพื้นเมือง พบว่า กลุ่มชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงและชาวเลมอเแกนได้หันไปสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดและระบบเงินตรา จากเดิมใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงได้แปรเปลี่ยนไปสู่การสร้างหนี้สินและบริโภคแบบคนเมือง ขณะที่ผลวิจัย เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง” ได้ออกแบบแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาชาวเลมอแกนและกะเหรี่ยง เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำบัญชีครัวเรือน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเรียกคืนความสมดุลในการหาเลี้ยงชีพ สู่วิถีชุมชนพอเพียงพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันผลวิจัยเรื่อง “จากสหกรณ์ สู่ทฤษฎีใหม่ผลงานวิจัยตามศาสตร์พระราชา” ของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลให้เกิด “ต้นแบบธุรกิจและธุรกิจชุมชน” เช่น สามพรานโมเดล และคิชฌกูฏโมเดล ที่สามารถสร้างพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ ใส่ใจการค้าที่เป็นธรรม เปิดให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ผลการศึกษาจาก 3มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปพัฒนา ขยายผล ตลอดจนสร้สงความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้เพื่อความอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทยสืบไป.-สำนักข่าวไทย