กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – สศก.ระบุ บัตรคนจนจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลควรพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.พร้อมด้วยนายกัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงผลกระทบจากการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ต่อภาคการเกษตรโดยมีนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก.เป็นประธาน ว่า มีผู้ผ่านสิทธิ์ใช้บัตรคนจน 11.43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 46,000 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 118,077.82 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาผลกระทบในภาคการเกษตร พบว่า มีเกษตรกร 3.32 ล้านคน ใช้งบประมาณ 13,368.59 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตร 21,215.50 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 21,134.27 ล้านบาท ค่าเดินทาง 70.73 ล้านบาทและส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม 10.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ทาง สศก.เห็นด้วยกับนโยบายบัตรคนจน แต่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ภาครัฐควรพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนซึ่งโครงการบัตรคนจนนี้จะสร้างภาระให้กับภาครัฐในการบริหารจัดการงบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้นควรปรับแนวคิดจาก’Welfare’คือ สวัสดิการที่ได้จากรัฐ ให้เป็น ‘Workfare’คือการทำงานให้รัฐและได้รับเงินตอบแทนเช่นโครงการขุดลอกคูคลองของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้นซึ่งจะทำให้ผู้ที่เดือดร้อนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการกลับเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ และในอนาคตควรสร้างความหลากหลายในการให้สวัสดิการเพื่อรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะกลุ่มคนในระบบภาษี – สำนักข่าวไทย