กรุงเทพฯ 12 ต.ค.-กทม.ยืนยันน้ำเหนือไม่กระทบพื้นที่ชั้นใน แต่เป็นห่วงบ้าน เรือน ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ ท่วมช่วง 14-18 ต.ค.นี้
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนนอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ 10 สำนักงานเขตระยะทางยาวกว่า 10 กิโลเมตร
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนด้านบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนบางไทร ซึ่งปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนดังกล่าวจะอยู่ที่ 2,000-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตามปริมาณดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ได้เตรียมความพร้อม ก่อสร้างแนวเขื่อนถาวร ป้องกันน้ำท่วมสูงในระดับ 2.5-3 เมตร ระยะทางรวม 77กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำล้นทะลักเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในได้
ทั้งนี้ หากการปล่อยมวลน้ำเหนือจากเขื่อนด้านบนแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เกิน 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กทม.เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ โดยจะไม่กระทบต่อพื้นที่ในแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม
ส่วนในจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนถาวรได้ ระยะทางยาวประมาณ 9 กิโลเมตร กทม.ก็ได้นำกระสอบทราย จัดเรียงเป็นเขื่อนสูง2.5เมตร เป็นแนวชั่วคราว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำเหนือไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
สำหรับชุมชนที่ก่อสร้างบ้านรุกล้ำแนวเขื่อน18 ชุมชน 430 ครัวเรือน ตั้งอยู่ในพื้นที่ 10 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตบางซื่อ ชุมชนโรงเรียนวัดสร้อยทอง 3 ครัวเรือน เขตดุสิต ชุมชนซอยสีคาม 14ครัวเรือน ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ 40ครัวเรือน ชุมชนมิตตคาม 120ครัวเรือน เขตพระนคร ชุมชนท่าวัง 9ครัวเรือน ชุมชนท่าช้าง 15ครัวเรือน ชุมชนท่าเตียน 28ครัวเรือน
เขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนวัดปทุมคงคา12ครัวเรือน ชุมชนตลาดน้อย 1ครัวเรือน เขตบางคอแหลม ชุมชนหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 14ครัวเรือน ชุมชนบริเวณซอยมาตานุสรณ์ 31ครัวเรือน ชุมชนวัดบางโคล่นอก 36ครัวเรือน ชุมชนบริเวณหน้าวัดอินทร์บรรจง 13ครัวเรือน เขตยานนาวา ชุมชนโรงสีถนนพระราม3 60ครัวเรือน เขตคลองเตย ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 1ครัวเรือน เขตบางกอกน้อย ชุมชนดุสิตนิมิตใหม่ 16ครัวเรือน เขตคลองสาน ชุมชนเจริญนครซอย29/2 12ครัวเรือน เขตราษฏร์บูรณะ ชุมชนดาวคะนอง 5ครัวเรือน
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวด้วยว่า บ้านเรือนนอกแนวเขื่อนจะเกิดปัญหาน้ำล้นทะลัก โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 14-18 ต.ค.นี้ ที่จะเกิดน้ำหนุนสูง บวกกับน้ำเหนือที่ปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเพิ่มขึ้นอีก 30-40 ซม. กทม.จึงต้องเร่งวางแผนช่วยเหลือประชาชนบ้านเรือนนอกแนวคันกั้นน้ำ โดยให้สำนักงานเขตแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานน้ำเหนือ น้ำขึ้นน้ำลง และวางแผนการช่วยเหลือดูแลประชาชนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยให้ทำการแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมยกของหนีน้ำและทำการจัด ทำเส้นทางสัญจรให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ได้จัด เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ยารักษาโรคเพื่อดูแลอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯนั้น มีการประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแนวททงบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม และให้ประชาขนทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯตลอดแนวที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีระยะทางสองฝั่งรวม 86 กิโลเมตร แต่พื้นที่ที่ยังไม่สามารถสร้างแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้มีระยะทางยาวประมาณ 9 กิโลเมตร โดยในพื้นที่นี้ ระยะทางยาว 5 กิโลเมตร เป็นจุดที่มีเขื่อนของเอกชนสร้างไว้แล้ว จึงเหลือพื้นที่ฟันหลอที่แท้จริงประมาณ 4 กิโลเมตร ที่เป็นจุดมีการรุกล้ำจากบ้านเรือนประชาชน และไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนได้ โดยในจุดฟันหลอดังกล่าว ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการดำเนินก่อสร้างเขื่อน จะเสร็จสิ้นประมาณต้นปี 62
ทั้งนี้ บ้านรุกล้ำนอกแนวเขื่อนที่เหลืออยู่ 430 หลังคาเรือนนั้น อยู่ระหว่างการรื้อย้าย โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งภายในต้นปี 2561 จะเหลือบ้านรุกล้ำไม่เกิน 257 หลังคาเรือน ที่กทม.ต้องเจรจารื้อย้ายต่อไป ส่วนในพื้นที่อื่นๆ กทม. ก็เสริมระบบป้องกันด้วยกระสอบทรายเป็นแนวเขื่อนชั่วคราว เพื่อป้องบกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่ โดยได้จัดเตรียมกระสอบทรายเสริมแนวฟันหลอไว้ทั้งสิ้น กว่า 3 แสนใบ .-สำนักข่าวไทย