ภูมิภาค 11 ต.ค.-สถานการณ์น้ำหลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลังมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะที่อยุธยา ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมขังหลายเดือน ร้องกรมชลประทานให้เปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง แต่ชาวบ้านอีกฝ่ายไม่ยอม
ชาวบ้านตำบลท่าดินแดงกว่า 400 ครัวเรือน เดือดร้อนหนัก ถูกน้ำท่วมขังหลายเดือน หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง ประกอบกับกรมชลประทานระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก ชาวบ้านท่าดินแดงวอนชลประทานเปิดประตูระบายน้ำกุฎี ที่เชื่อมต่อ อบต.ท่าดินแดง กับ อบต.กุฎี เพื่อให้ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำพื้นที่แก้มลิงกว่า 35,000 ไร่ เนื่องจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่ชาวบ้านฝั่งตำบลกุฎีไม่ยอม ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ยังรับน้ำได้ ทั้งสองฝ่ายจึงเกิดมีปากเสียงกัน วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือ
ส่วนระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทะลักเข้าท่วม 3 อำเภอของสุพรรณบุรี ตั้งแต่อำเภอเมือง บางปลาม้า สองพี่น้อง บ้านเรือนกว่า 100 หลัง โดยเฉพาะริมแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน
เช้านี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดชัยนาท มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในอำเภอสรรพยา สูงจากเดิม 26 เซนติเมตร กัดเซาะคันกระสอบทรายกั้นน้ำของชาวบ้านหมู่ 4, หมู่ 5 ตำบลโพนางดำออก พังเสียหายหลายจุด ขณะนี้ชาวบ้านขนย้ายสิ่งของ ขึ้นไปอาศัยอยู่บนถนนคันคลองมหาราชชั่วคราว ล่าสุด บ้านเรือนนอกคันกั้นน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกถูกน้ำท่วมกว่า 500 หลัง
ส่วนภาพมุมสูงที่เห็นนี้ เป็นระดับน้ำในอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เกินความจุอยู่ที่ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน ต้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 4 บาน เนื่องจากฝนยังตกหนัก และมีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลเข้าอ่างอยู่ตลอด ชาวบ้านริมแนวลำน้ำลำเชียงไกรเร่งเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เขื่อนอุบลรัตน์ ขอนแก่น มีน้ำอยู่เกินความจุที่ร้อยละ 101 มีน้ำไหลเข้าวันละ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนจุฬาภรณ์ ชัยภูมิ น้ำเกือบเต็มอ่างอยู่ที่ร้อยละ 99 ทำให้แม่น้ำชีท่วมทั้งจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ
ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา
ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่ทีมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมสูงสุด 12 เขื่อน เขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณเก็บกักเกินร้อยละ 80 จนถึงเต็มความจุ ทั่วประเทศรวม 168 เขื่อน ซึ่งต้องเร่งพร่องน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับฝนใหม่ที่จะมาอีกระลอกจากร่องมรสุมตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้.-สำนักข่าวไทย