รัฐสภา 3 ต.ค.- กรธ.ร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช.เสร็จแล้ว ติดดาบให้ตั้งพนักงานไต่สวนเทียบเท่าตำรวจ แต่เพิ่มโทษ 2 เท่ากรณีเจ้าหน้าที่ทำผิดเอง เชื่อ สนช.ไม่คว่ำกฎหมายเพื่อยื้อเวลาปัดตอบยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัย พร้อมยืนยัน มีกฎหมายปราบทุจริตระหว่างประเทศ แต่ยากที่จะดำเนินการ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเรียงเลขมาตรา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.)จะส่งให้ ป.ป.ช.ไปพิจารณาว่ามีส่วนใดต้องปรับแก้เพิ่มเติมหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ยังยืนยันถึงข้อเสนอเดิมที่เคยส่งมา กรธ.ก็พร้อมจะชี้แจง พร้อมยอมรับว่า กรธ.ได้เพิ่มอาวุธในการปราบการทุจริตให้กับ ป.ป.ช. โดยเฉพาะการให้ ป.ป.ช.มีอำนาจตั้งพนักงานไต่สวนสอบสวนเองได้ และมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีหลักสูตรอบรมแบบเดียวกับที่มีการอบรมตำรวจด้วย แต่เมื่อมีอำนาจเพิ่มขึ้น กรธ.ก็เพิ่มโทษกรณีที่เจ้าพนักงานของ ป.ป.ช.กระทำผิดต้องรับโทษถึง 2 เท่า
นายมีชัย กล่าวว่า ในวันนี้ (3 ต.ค.) จะเริ่มร่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งกำหนดจะให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนตามโรดแมปที่วางไว้ ยืนยันว่า การร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับสุดท้ายจะไม่เกิดอุบัติเหตุในชั้นของ กรธ.จนทำให้ผู้มีอำนาจต้องอยู่ต่อไปอีก แต่จะไปเกิดอุบัติเหตุในชั้น สนช.หรือไม่ ส่วนตัวไม่ทราบ และคาดเดาไม่ได้ว่า จะมีเงื่อนไขใดทำให้ สนช.ต้องคว่ำร่างกฎหมายลูก เพราะกรธ.ไม่ได้จำกัดอำนาจของ สนช.ในการปรับแก้ร่างกฎหมาย หาก สนช.แก้ไขส่วนใดที่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็ยอมรับได้ เพราะที่ผ่านมา ร่างกฎหมายหลายฉบับมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก แต่ก็ผ่านไปได้
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกที่เหลือเพื่อให้ผู้มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งต่อไปนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ต้องไปถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกต เพราะส่วนตัวก็มองว่า นายกรัฐมนตรีคงเหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว
นายมีชัย ยังย้ำว่า ไม่มีความรู้เรื่องขั้นตอนการขอลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะไม่มีเวลาศึกษา แต่ยอมรับว่า ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ลงโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นฐานความผิดที่ประเทศอื่นๆก็มี ตามข้อตกลงว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตระหว่างประเทศ เผื่อว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐของทุกประเทศที่กระทำผิดแล้วเกิดกรณีการหลบหนีหรือลี้ภัย ประเทศอื่นๆก็จะสามารถดำเนินคดีตามฐานความผิดนี้ได้ โดยเรื่องดังกล่าวได้กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ด้วย แต่ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องยาก
“แค่ดำเนินคดีเรื่องที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ก็ยากอยู่แล้ว ลองคิดดูว่า อยู่ดีๆมีใครก็ไม่รู้ไปทุจริตมาจากประเทศไหน พอมาถึงประเทศไทย เราก็ต้องดำเนินคดีกับเขาด้วย ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากใส่ไว้ในกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ส่วนฐานความผิดนี้ จะถูกโยงว่าเป็นคดีทางการเมืองเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการข้อลี้ภัยทางการเมืองหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ” นายมีชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย