กรุงเทพฯ 30
ก.ย.-บีซีพีจี ฟุ้งพร้อมร่วมแข่งขันโครงการไฟฟ้าภาครัฐและ ศึกษา Internet of Energy ย้ำเติบโตแข็งแกร่งปีนี้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปีก่อนแล้วร้อยละ
94
วานนนี้ (29 กันยายน 2560) เวลา 16.30 น.
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
ได้ร่วมลงนามในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนให้สิทธิขายไฟฟ้า
ตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการ
กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ณ ที่ทำการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ กำลังการผลิตรวมประมาณ 9 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 1. โครงการที่อำเภอพระพุทธบาท
จังหวัดสระบุรี ร่วมกับ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เขตลพบุรี กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ 2. โครงการที่อำเภอท่าม่วง
จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เขตสุพรรณบุรี กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในต้นปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561
และสามารถรับรู้รายได้ด้วยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 25 ปี
นายบัณฑิต สะเพียรชัย
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 โครงการดังกล่าวมี
ที่ตั้งใกล้กับโครงการเดิมของบริษัททั้งโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์สหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอ่างทอง
จึงทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถใช้บุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือบางส่วนร่วมกันได้ ซึ่งจากการที่บีซีพีจีดำเนินธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554
จนปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 200
เมกะวัตต์ ทำให้มีพันธมิตรที่พร้อมจะร่วมมือทำงานและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างด้วยต้นทุนต่ำ
รวมถึงค่าที่ดินที่บริษัทจัดหามาได้ในราคาที่เหมาะสม ทำให้เกิดต้นทุนที่แข่งขันได้มากขึ้น
“บริษัทฯ มีความยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการอื่นๆ
เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการในประเทศหลากหลายรูปแบบ
รวมถึงการลงทุนในโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ Internet of Energy หรือการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศอีกด้วย”
นายบัณฑิตกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งในและต่างประเทศ 585 เมกะวัตต์
เพิ่มขึ้น 211 เมกะวัตต์จากปี 2559 จากโครงการโซลาร์ราชการ 9 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ 20 เมกะวัตต์
และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ที่ประเทศอินโดนีเซีย 182 เมกะวัตต์ และโดยหากพิจารณาในส่วนของกำลังการผลิตที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มจาก
203 เมกะวัตต์ในปี 2559 เป็น 394 เมกะวัตต์ในปีนี้แล้ว นับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ
94-สำนักข่าวไทย