สปสช.25ก.ย.-สปสช.เผยผลสำรวจบัตรทองปี 60 พบประชาชนพึงพอใจ บัตรทองสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มมากกว่าปี 59 ที่ได้ร้อยละ91.86 ชี้ต้องปรับเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพบริการให้ประชาชนทั่วประเทศ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “นักข่าวนักสร้างสรรค์เนื้อหาในทุกแพลตฟอร์มในวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงยุคไทยแลนด์ 4.0” ถึงผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ผู้ให้บริการและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2560 ว่า จากผลการสำรวจ มี 5 เรื่องคือ1.คะแนนความพึงพอใจ 2.การรับรู้ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับบริการ 4.ประเด็นความไม่พึงพอใจเหตุผลการไม่ใช้สิทธิ์และข้อเสนอแนะและ 5.ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่ได้ร้อยละ 91.86
การรับรู้ของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สูงที่สุด3อันดับแรกคือ ใช้บัตรประชาชนในการใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 92.39 คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 90.18 และเมื่อเจ็บป่วยต้องไปใช้บริการที่หน่วยที่ลงทะเบียนสิทธิร้อยละ 86.39
ขณะที่การรับรู้ของประชาชนที่น้อยที่สุด คือใช้สิทธิ คลอด บุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งร้อยละ 57.00/สามารถเปลี่ยนหน่วยได้ปีละไม่เกิน4ครั้งร้อยละ 52.83 และทราบสายด่วน 13 39 ร้อยละ 52.63 โดยกลุ่มประชาชนที่รับรู้น้อยที่สุดคือกลุ่มอาชีพค้าขายกลุ่มช่วงอายุ 25-39 ปีและกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา
ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่าจากผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนครั้งนี้ ทำให้รู้ถึง ระบบการกระจายข่าวสาร การสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในการได้รับบริการสาธารณสุข ว่ายังมีความคลาดเคลื่อนกันในแต่ละ บุคคลแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นใจ ในคุณภาพการบริการ ซึ่ง สปสช.ต้องนำไปปรับปรุง ประกอบกับนำข้อเสนอเชิงนโยบายของผู้ทำการสำรวจคือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ไปปรับปรุงพัฒนาคือเพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชนผู้ให้บริการและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องเมื่อ สปสช.เปลี่ยนแปลงนโยบาย และต้องส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการทุกระดับในการพัฒนาการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการในมุมที่ประชาชนให้ความสำคัญ รวมทั้งต้องสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุนให้กับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในประเด็นการจัดสรรงบประมาณ ลงไปที่หน่วยปฐมภูมิหลักเกณฑ์ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่แบบบูรณาการ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะ การปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้.-สำนักข่าวไทย