กทม. 25 ก.ย.-กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทั่วประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการเข้าร่วมโครงข่ายกับซีทีเอช ยื่นดีเอสไอตรวจสอบการกระทำความผิดของอดีตผู้บริหาร พร้อมสืบสวนเส้นทางการเงิน
นายวิริยา ธรรมเรืองทองนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุเมธ สอนสุทธิ์ ที่ปรึกษากฏหมายสมาคมฯ นำสมาชิกผู้ประกอบ การเคเบิลทีวีจากทั่วประเทศ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิดของอดีตผู้บริหารบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) และสืบสวนเส้นทางการเงิน และการกระทำความผิดอาญา
นายสุเมธ กล่าวว่า บริษัทซีทีเอชดำเนินธุรกิจเข้าข่ายผิดกฎหมายในหลายประเด็น เช่น การเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยใช้บัญชีซื้อขายหุ้นของบุคคลอื่น เพื่อสร้างราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นในลักษณะอำพรางให้บุคคลทั่วไปและสมาชิกสมาคมหลงผิดว่าหุ้นนั้นมีการซื้อขายมากหรือมีราคาเปลี่ยนแปลงไป โดยพฤติการณ์การซื้อขายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและอ้างว่ามีกลุ่มทุนธุรกิจสำคัญรายใหญ่เป็นผู้เสนอซื้อหุ้นอันเป็นผลให้การซื้อหุ้นผิดไปจากสภาพปกติ เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปและสมาชิกเข้าซื้อขายหุ้น รวมแล้วมีผู้ซื้อหุ้นประมาณ 190 ล้านหุ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 1,900 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการสร้างกระแสเงิน โดยมีการนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทซีทีเอชในระยะสั้น ๆ และนำยอดเงินไปแจ้งต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนว่าเป็นค่าชำระหุ้นก่อนจะโยกเงินออกจากบริษัท ซีทีเอชไป ซึ่งวิธีการโยกเงินออกจากบริษัทซีทีเอช ใช้การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยกว่า 7 แห่ง โดยไม่มีการประกอบธุรกิจจริงและทุกบริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัทซีทีเอช รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ต่อมาบริษัทซีทีเอชอ้างว่าประกอบธุรกิจขาดทุนมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงขอฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทลูกต่างๆ กลับมากล่าวอ้างว่าบริษัทซีทีเอชเป็นลูกหนี้ของตนเองมูลหนี้นับหมื่นล้านบาท
พฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีการเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัทซีทีเอชซึ่งเป็นบริษัทจดเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นได้รับความเสียหาย จึงขอให้ดีเอสไอรับคดีนี้ไว้สอบสวนในความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และฉ้อโกงผู้ถือหุ้นและฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2559 บริษัทซีทีเอชได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่า 21,459 ล้านบาท แต่มีทรัพย์สินเพียง 9,900 ล้านบาทเศษ และมีลูกหนี้จำนวน 97 ราย ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย.2560 ศาลล้มละลายกลางไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทซีทีเอชจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยอ้างว่าจะนำเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาใช้ ซึ่งศาลเห็นว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ และเดิมบริษัททำธุรกิจทีวี แต่จะมาเปลี่ยนเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่น่าจะมีความถนัด โดยระหว่างรอขั้นตอนล้มละลาย ผู้เสียหายรายย่อยกว่า 100 รายทั่วประเทศเกรงว่าจะไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย เพราะมีการนำเงินถ่ายออกไปบริษัทลูก
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า กลุ่มผู้ร้องต้องการให้ดีเอสไอรับตรวจสอบพฤติการณ์กลุ่มผู้บริหารบริษัทซีทีเอช ว่ามีการปั่นหุ้น ฉ้อโกงผู้ถือหุ้นและฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ หลังรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าคดีมีมูลความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดตามแนบท้ายกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษก็สามารถเสนอให้อธิบดีดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษได้ โดยไม่ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อมีมติรับสอบสวน เพื่อส่งสำนักให้กองคดีการเงินการธนาคารดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย