ปภ. 25 ก.ย.-ปภ.เตือนภาคใต้ ระวังมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่ จ.สตูล และ จ.พิษณุโลก ยังประสบปัญหาน้ำไหลหลาก
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 21-24 กันยายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล และจัวหวัดตรัง รวม 11 อำเภอ 48 ตำบล 267 หมู่บ้าน โดยสถานการณ์ล่าสุดที่จังหวัดตรังคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลากที่จังหวัดสตูล 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล และอำเภอละงู รวม 8 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,126 ครัวเรือน 4,447 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง มีฝนตกเล็กน้อย และอยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนอิทธิพลของพายุ “ทกซูรี” ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลากในจังหวัดพิษณุโลก 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม และอำเภอบางระกำ รวม 16 ตำบล 77 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย พร้อมนำเรือและรถขนย้ายให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน รวมถึงจัดรถผลิตน้ำดื่มและรถไฟฟ้าส่องสว่างให้บริการแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่นกับฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 26 กันยายน 2560 รวมถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ส่งผลให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักบางแห่ง
“อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้ประสานจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ภาคใต้เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด” นายฉัตรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย