กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- ประธาน กสม. เผย มาตรฐานจริยธรรมกลางร่างเสร็จแล้ว ส่ง “ครม. -สนช.” ให้ความเห็น เชื่อ บังคับใช้ทัน 1 ปี หลัง รธน. ประกาศใช้
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางมาตรฐานทางจริยธรรม กับการสร้างเสริมความสุจริต สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล” มีนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. พล.อ.วิทวัส รัชตนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมสัมมนา
นายวัส กล่าวว่า ร่างมาตรฐานจริยธรรมกลาง ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานองค์กรอิสระ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หัวหน้าส่วนราชการขององค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึง ส.ส. ส.ว.และคณะรัฐมนตรี ร่างเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีอยู่ 4 หมวด 28 ข้อ
นายวัส กล่าวว่า หมวด 1 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ หากทำผิดถือว่าร้ายแรง เช่น การไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีผลประโยชน์ขัดกัน ไม่รับของขวัญของกำนัล เว้นแต่เป็นการให้โดยธรรมจรรยา หมวด 2 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก เช่น ไม่ดำเนินการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ต้องยึดมั่นหลักนิติธรรม ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องไม่มีพฤติกรรมล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียหาย
นายวัส กล่าวว่า หมวด 3 เป็นเรื่องจริยธรรมทั่วไป เช่น ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดมั่นความชอบธรรม ตรวจสอบได้ และ หมวด 4 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมวด 2 และ 3 จะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ให้ดูที่เจตนา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำต้องรับฟังความเห็นจากรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ให้ตอบกลับมาภายใน 45 วัน นับจากที่ได้รับเรื่อง โดยจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ คือต้องทำให้เสร็จไม่เกินวันที่ 6 เมษายน 2561
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 หากมีการฝ่าฝืน ก็จะต้องส่งมาที่ ป.ป.ช.พิจารณาว่า มีการกระทำผิดอย่างไร หากร้ายแรง ก็ต้องส่งดำเนินคดีอาญาด้วย
ขณะที่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดใหม่ จะเป็นต้นแบบในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของทุกองค์กร ที่ต้องไปกำหนดในหน่วยงานของตัวเอง แต่บางองค์กรอาจต้องมีจริยธรรมมากกว่าองค์กรอื่น เช่น ตุลาการ หรือ แพทย์ .- สำนักข่าวไทย