แพทย์เตือนผู้ที่ “เบลอ วูบบ่อยๆ ”ควรรีบพบแพทย์ ชี้อาจเป็นโรคลมชัก

กรมสุขภาพจิต17 ก.ย. แพทย์เตือนผู้ที่ “เบลอ วูบบ่อยๆ ”ควรรีบพบแพทย์ ชี้อาจเป็นโรคลมชัก 


 กรมสุขภาพจิต ย้ำเตือนประชาชนทุกเพศทุกวัยที่มีอาการเบลอ  เหม่อลอย ตาค้าง  วูบบ่อยๆ  อย่าชะล่าใจ ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ชี้อาจไม่ใช่เป็นลมธรรมดา แต่อาจเป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมูประเภทที่ไม่มีอาการชักเกร็ง     เป็นภัยเงียบใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม  เผยขณะนี้ทั่วประเทศมีคนไทยป่วยโรคนี้ 650,000 คน แต่เข้ารักษาน้อยเพียง 1 ใน 10   ชี้โรคนี้รักษาหายขาดได้ หากพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มเป็นครั้งแรก    หากไม่รักษาและปล่อยให้มีอาการบ่อยๆ จะเป็นตัวเร่งป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมไวขึ้น  และอาจป่วยเป็นโรคทางจิตเวชซ้ำซ้อนตามมา พบได้ร้อยละ 30   


นายแพทย์พงศ์เกษม  ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข    ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคลมชัก( Epilepsy ) ว่า โรคนี้คนไทยเรียกว่าลมบ้าหมู  จัดเป็นโรคของการเจ็บป่วยทางสมอง   พบได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากพบในผู้ป่วยที่มีบกพร่องทางสติปัญญา โรคออทิสติกแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรง    สาเหตุเกิดจากเซลล์สมองที่มีนับล้านเซลล์ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้า  ปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน   ทำให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วคราว  โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากกรรมพันธุ์   ติดเชื้อในสมอง สมองขาดอ๊อกซิเจน  ดื่มสุรา  จากอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง  หรือเซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง   ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50 ล้านคน  โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย    ส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1  หรือมีประมาณ 650,000 คน ทั่วประเทศ  แต่สถิติการเข้ารับการรักษาพบว่ามีน้อยประมาณร้อยละ 10  เช่นในปี 2558 มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน  79,385 คน  เป็นชาย 49,100 คน หญิง 30,285 คน 

  “สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักเข้ารับการรักษาน้อย ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อว่าเป็นโรคที่เกิดจากไสยศาสตร์  และเกิดมาจากการขาดความเข้าใจในเรื่องของอาการซึ่งมี2 ลักษณะอาการใหญ่ๆ  คือชักกระตุกเกร็งไปทั้งตัวคล้ายกับลมบ้าหมู  การชักแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและรู้จักว่าโรคลมบ้าหมู   แต่อาการอีกลักษณะหนึ่งที่พบบ่อยทึ่สุดขณะนี้คือ อยู่ดีๆก็มีอาการแบบเบลอๆ เหม่อลอย  ไม่รู้สึกตัวหรือที่เรียกว่าอาการวูบไปชั่วขณะ   อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยก็ได้   ส่วนมากมักพบในเด็กอายุ 6-14 ปี อาการของโรคลมชักชนิดนี้   คนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไป   จึงไม่ไปรักษา    อย่างไรก็ตามอาการชักที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกตินี้อาจปรากฏแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นที่สมองส่วนใด  เช่นหากเป็นที่เป็นที่สมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อ   ก็อาจเกิดการกระตุกเกร็งแขนขาซีกเดียวก็ได้  ”  นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว 


 จึงขอให้ประชาชนที่มีอาการที่กล่าวมาทั้ง 2 ชนิดอาการ   อย่านิ่งนอนใจ  ควรรีบพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน  เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ  เช่น หากอาการชักเกิดจากคลื่นสมองผิดปกติทั่วไป จะให้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการชัก โดยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ   ป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย  หากเกิดจากเนื้องอกในสมองก็อาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก เป็นต้น   หากผู้ที่มีอาการชักได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรก จะมีโอกาสหายขาดได้สูง  สามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานที่เหมาะสมได้     แต่หากไม่รักษาก็จะมีอาการชักปรากฏบ่อย  บางรายอาจเกิดเป็นชุดๆหรือเกิดตลอดวันก็ได้   จะมีผลเสียที่เป็นอันตราย  โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมู อาจทำให้เซลล์สมองตาย  และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย    นอกจากนี้อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ประมาณร้อยละ 30 ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวประชาชนที่ไม่ควรมองข้าม 

 นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวต่อไปว่า ในการรักษาโรคลมชักนั้น  ผู้ป่วยจะต้องยึดหลักปฏิบัติย่างเคร่งครัดคือกินยาต่อเนื่อง  อย่าหยุดยาเอง และไม่ลดจำนวนยาเอง  ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะควบคุมอาการชักได้ผลดี  โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาเอง  ผู้ป่วยประมาณกว่าร้อยละ 70  จะมีโอกาสหายขาด   อีกร้อยละ 30 มีอาการดีขึ้น แม้ไม่หายชักทั้งหมดก็ตาม  ” ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคลมชัก มักจะไม่กินยาตามแผนการรักษาของแพทย์   เพราะเข้าใจผิดว่ายาจะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้โง่   ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยคิดช้า หรือมีอาการเซื่องซึมในระยะต้นๆเมื่อเริ่มกินยาเท่านั้น  การกินยาต่อเนื่อง จะทำให้การรักษาได้ผล และสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนทางจิตเวชได้ด้วย” นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว   

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป 2-3 เท่าตัว  โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชัก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน  มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดในน้ำตื้นๆก็ได้    ดังนั้นจึงขอให้ผู้ป่วยโรคลมชักหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ    สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีอาการชัก  ประชาชนที่พบเห็นขอให้ตั้งสติให้ดี  ระวังไม่ให้ผู้ป่วยสำลักน้ำลายหรืออาหาร   โดยให้จับศีรษะและลำตัวตะแคงไปด้านข้าง และดูแลไม่ให้มีสิ่งของที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย  เช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่างๆที่เป็นของแข็ง  เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก   หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัย  จะช่วยให้การรักษาแม่นยำ.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผ่าไชน่า เรลเวย์ คว้า 3 โครงการรัฐในภูเก็ต

เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม กลายเป็นปฐมบทในการปูพรมตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หลังพบเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง. และโครงการรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต ตรวจพบ 3 โครงการ และหนึ่งในนั้นกำลังมีปัญหาก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

มหาสงครามโลก

นักวิชาการชี้ “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” เกิดแน่ถ้าโลกยังตึงเครียด

นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว หลังอยู่ปฏิบัติภารกิจค้นหา-กู้ชีพ สนับสนุนกู้ภัยไทย เหตุตึก สตง.ถล่ม กว่า 1 สัปดาห์

ธรรมชาติใต้ดินเปลี่ยนไป หลังแผ่นดินไหว 1 สัปดาห์

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แม้บนพื้นผิวดินจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่พบความเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ดินจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหลุมยุบขนาดใหญ่ น้ำพุร้อนที่เคยพุ่งจากใต้ดินหายไป แต่น้ำตกที่แห้งในหน้าแล้งกลับมีน้ำไหลออกมา ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

ข่าวแนะนำ

K9 หยุดปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.ถล่ม

K9 หยุดปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.ถล่ม เพราะปฏิบัติหน้าที่ครบ 10 วันแล้ว เป็นปกติของการทำงาน หากปฏิบัติภารกิจต่ออาจจะทำให้บาดเจ็บได้ และการกู้ภัยที่เหลือตอนนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรใหญ่เท่านั้น