กรุงเทพฯ11 ธ.ค.-เครือข่ายประชาชนฯ เสนอลงทะเบียนไม่เฉพาะคนจน แต่ให้ลงทะเบียนคนรวยด้วย เพื่อป้องกันการแอบอ้างและเพื่อให้รัฐ สามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยอย่างแท้จริง
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ กว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมจัดกิจกรรม หนุนสังคมเป็นธรรมก้าวไปด้วยกัน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องต่อภาครัฐในการจัดระบบการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม แนะให้ลงทะเบียนคนจน ต้องลงทะเบียนคนรวยด้วย ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ อธิบายว่า ปัจจุบันคนรวยที่สุดมีรายได้ต่างกับคนจนที่สุดถึง 22 เท่า ดังนั้นการจัดรัฐสวัสดิการ รัฐต้องให้สวัสดิการอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะ 3 เรื่อง คือหลักประกันสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา และหลักประกันเมื่อสูงวัย ซึ่งที่ผ่านมารัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการรัฐเพื่อรู้ที่มาของรายได้ แต่คนรวยไม่ต้องยื่น จึงเกิดความไม่เท่าเทียม จึงขอเรียกร้องไม่ว่ารวยหรือจนต้องลงทะเบียนทุกคนเพื่อป้องกันการแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน และจะได้รู้ว่าใครมีรายได้น้อยหรือมาก จะเป็นธรรมกว่า จะทำให้รัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยอย่างแท้จริง
นางม้วน ถิ่นวิลัย แกนนำกลุ่มผู้หญิงจากภาคอีสาน กล่าวว่าหวังให้สังคม ไทยมีรัฐสวัสดิการอย่างเท่าเทียม ในโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่สมบูรณ์ ทางเครือข่ายจะผลักดันและยื่นข้อเรียกร้องให้ประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมและมีอำนาจตรวจสอบระบบสวัสดิการภาครัฐ ทั้งเรื่องการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล สิทธิแรงงานลูกจ้าง ที่สำคัญเตรียมยื่นข้อเสนอไม่ให้ตัดระบบบัตรทองออกจากระบบสาธารณสุขเพราะเป็นการช่วยเหลือให้คนจนเข้าถึงการรักษา จึงอยากเรียกร้องให้ยังบรรจุ ระบบบัตรทองลงไปในรัฐธรรมนูญ คาดหวังว่า การออกมาจัดกิจกรรมครั้งนี้จะส่งเสียงไปถึงภาครัฐและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้านำเสนอแนวคิด ข้อท้วงติง หรือร่างกฎหมายฉบับประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปทางไหน การออกนโยบายให้คนจนมาลงทะเบียนไม่แก้ปัญหาระยะยาว เพราะไม่คำนึงว่าเป็นสิทธิพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงในชีวิต การที่รัฐจ่ายเงินเป็นครั้ง เช่น ลงทะเบียนคนจน ได้รับเงิน 3,000 บาทไม่ช่วยแก้ปัญหา ให้ความเหลื่อมล้ำหายไป รัฐควรจัดสวัสดิการให้เป็นหลักประกันที่ยั่งยืนให้ประชาชนมากกว่า .-สำนักข่าวไทย