ร.ร.แชงกรีล่า 15 ก.ย. – สภาไตรภาคียางพาราเตรียมร่วมมือพัฒนาวิจัยอุตสาหกรรมยาง เน้นนำยางธรรมชาติใช้ประโยชน์รูปแบบต่าง ๆ ดึงเวียดนามเพิ่มบทบาท ITRC หวังสร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมยาง
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา ประจำปี 2560 ภายใต้สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ซึ่งมี MR. MAH SIEW KEONG (ดาตุ๊ก เสอรี มะ ซีอีว เขี่ยว) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศมาเลเซีย และ Drs. Enggartiasto Lukita (ดอกเตอร์ รัน ดุช แองการ์ตีอาสโต้ ลูกีตา) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าประเทศอินโดนีเซีย และคณะเข้าร่วมประชุม ว่า ปี 2559-2560 อุตสาหกรรมยางธรรมชาติยังคงได้รับอิทธิพลจากตลาดต่างประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคายางของโลก ทำให้ราคายางยังคงมีความผันผวน ที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับเกษตรกรรายย่อยหันไปประกอบอาชีพเกษตรอื่นจำนวนมาก ทั้งนี้ ITRC และคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยางพารานานาชาติ ( IRCo) มีความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า จากการร่วมประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศครั้งนี้มีข้อสรุปแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 6 ประการ คือ 1.การส่งเสริมด้านอุปสงค์ เพิ่มปริมาณการใช้ยาง ในฐานะประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ทั้ง 3 ประเทศมีความพยายามที่จะส่งเสริมใช้ยางในประเทศของตนเองเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 10 กับการพัฒนาและดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ด้านกีฬาสุขภาพ ตลอดจนการแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยทั้ง 3 ประเทศสมาชิกจะให้ความสำคัญพัฒนางานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมทั้งส่วนภาครัฐและเอกชน และมีข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการใช้ยางธรรมชาติของแต่ละประเทศสำหรับก่อสร้างถนนและการปูผิวถนนใหม่ 2.การจัดตั้งตลาดยางพาราระดับภูมิภาค (ITRC Regional Rubber Market: RRM) ปัจจุบันอยู่ในลักษณะตลาดรูปแบบ spot trading เป็นตลาดซื้อขายจริงและส่งมอบจริง ซึ่งมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายผลผลิตรูปแบบต่าง ๆ ไปยังผู้ใช้ยางได้โดยตรง และในอนาคตทั้ง 3 ประเทศมีความเห็นร่วมกันว่าจะหาแนวทางในการพัฒนาตลาดยางพาราระดับภูมิภาคเป็นลักษณะการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้สนใจได้เข้ามาซื้อขายผลผลิตจากสถาบันเกษตรกรโดยตรงมากยิ่งขึ้น
3.การบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบผ่านโครงการการจัดการอุปทาน (Supply Management Scheme: SMS) เป็นการลดปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูกจะเป็นมาตรการระยะยาวปี 2560-2568 เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณผลผลิต เป็นมาตรการเข้มข้นที่ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคายางพาราในระยะจะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างยั่งยืน และจะสร้างความมั่นใจในการจัดหายางธรรมชาติให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืนเช่นกัน 4.มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง (Agreed Export Tonnage Scheme :AETS) ขณะนี้ทั้ง 3 ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ราคายางอย่างใกล้ชิด หากราคายางปรับตัวลดลงจนน่าเป็นห่วงอาจจำเป็นจะต้องนำมาตรการนี้มาใช้ เพื่อช่วยกระตุ้นราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้น
5.การต้อนรับเวียดนามเข้าสู่สมาชิกสมทบ ITRC ทั้ง 3 ประเทศต่างมีความเห็นร่วมกันในการรับประเทศเวียดนามเป็นสมาชิกสมทบภายใต้กรอบการทำงานของ ITRC โดยเวียดนามถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ของโลกที่มีผลผลิตค่อนข้างสูง ดังนั้น การมีส่วนร่วมของเวียดนามจะช่วยเพิ่มบทบาทของ ITRC ในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยาง และ 6.การหาแนวทางใหม่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้ง 3 ประเทศต่างมองร่วมกันว่าในอนาคตจะปรับกลยุทธ์ในการหารือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยหวังว่าหลังจากการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศครั้งนี้ต่างฝ่ายต่างผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพราคายางและพัฒนาอุตสาหกรรมยางได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป.-สำนักข่าวไทย