ศิริราช 11 ก.ย.- ศิริราช สั่งให้นักศึกษาฆ่าสุนัขเอาประกันพักการเรียน รอผลสอบทางจริยธรรมฯ การประเมินทางจิตใจ ประกอบการตัดวินตามกระบวนการยุติธรรม ว่า สมควรสิ้นสุดสภาพนักศึกษาหรือไม่ เบื้องต้น เจ้าตัวยังหวังศึกษาต่อ แต่การตัดสินเป็นอำนาจของคณะกรรมการชี้ขาด พร้อมเผย นักศึกษา มีปัญหาสภาพจิตใจ เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ชั้นปี 3 อาการมาหนักขึ้นตอนชั้นปีที่ 6 เรียนไม่ผ่านวิชาอายุรศาสตร์
นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยนพ. รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐ์สุวรรณ รองคณะบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา ผลการสอบข้อเท็จจริงนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาวางยาสุนัข เพื่อหวังเงินประกัน โดยใช้เวลาสอบกว่า 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 11.30-13.00 น.โดยที่ประชุมคณะแพทย์ศาสตร์มีมติเบื้องต้นให้นักศึกษาคนดังกล่าว หยุดพักการเรียนก่อน พร้อมสอบสวน 3 ด้าน คือ 1 ด้าน จริยธรรม ว่ามีความเหมาะสมว่าจะเป็นแพทย์ต่อไปหรือไม่ 2 การประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากพบว่านักศึกษามีปัญหาสภาพจิตใจย้ำคิดย้ำทำ ตั้งแต่เป็นนักศึกษาปีที่ 3 โดยเริ่มมีอาการปรากฎชัดในชั้นปีที่ 6 (2558) และจนถึงขณะนี้นักศึกษาคนดังกล่าวยังเรียนไม่จบในวิชาสุดท้าย คือ การศึกษาในหมวดอายุรศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาได้พักการศึกษาตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน โดยปี 2560 พักการเรียนไปแล้วรวม 3 ครั้ง ทั้งนี้หากผลสอบพบว่า มีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ มีความรุนแรง ขัดต่อการศึกษาแพทยศาสตร์ อาจพิจารณาให้พ้นสภาพนักศึกษา และ 3.การสอบสวนที่ควบคู่ไปกับกระบวนการยุติธรรม หากพบว่า กระบวนการตัดสินทางกฎหมาย สิ้นสุดทางอาญา และมีความผิดจริง จะให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า. เบื้องต้นจากการพูดคุยกับนักศึกษาพบว่ามีความเครียด และวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังยืนยันอยากจะศึกษาต่อในคณะ แพทย์ฯต่อ แต่ทั้งนี้การจะได้เรียนหรือไม่ คณะกรรมการของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาไม่นานในการพิจารณา
“ภาวะย้ำคิดย้ำทำ ไม่ถือเป็นอาการของโรค ที่ผ่านมาการเรียนของคณะแพทย์ศาสตร์ อาจไม่ความเครียดได้ ซึ่งก็เป็นปกติของนักศึกษาที่อาจมีการขอพักการเรียนได้เป็นปกติ ส่วนความเครียดของโรคอาการทางจิตที่พบเป็นปัญหาสำหรับการศึกษาต่อแพทย์ จนต้องให้พ้นสภาพนักศึกษา ที่ผ่านมาพบน้อยมาก “นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับอาการของโรคบางชนิดที่จะทำให้พ้นสภาพนักศึกษา คือ ต้องป่วย เช่น เป็นจิตเภทรุนแรง สำหรับอาการทางจิตใจของนักศึกษาคนดังกล่าว ทางคณะแพทย์ฯขอไม่เปิดเผยเรื่องอาการป่วย เพราะเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย เรื่องเหล่านี้จะถูกบรรจุอยู่ในคณะกรรมการสอบสวนของคณะแพทย์. โดยให้ส่วนของการป่วยทางจิต มักจะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย พันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิตประจำวัน
นพ.รุ่งนิรันดร์ กล่าวว่า สำหรับนักศึกษาคนดังกล่าวเริ่มมาเป็นนักศึกษาคณะแพทยศษสตร์ศิริราชพยาบาลในรหัสปีการศึกษา 53 ตลอดเวลาการเรียนแม้มีอาการความผิดปกติทางสภาพจิตใจแต่ก็ไม่ได้แสดงอาการ รุนแรง จนเมื่อมาถึงชั้นปีที่ 6 คือในปีการศึกษา 2558 เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น และแม้ว่าอยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิก ก็ไม่พบคงามผิดปกติทางการเรียน และคะแนนของนักศึกษาคนนี้อยู่อยุ้ในเกณฑ์ดี ผ่านการประเมิน มีเพียงวิชาสุดท้ายคือ วิชาด้านอายุศาสตร์เท่านั้น ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งทางคณะแพทย์ ฯก็เปิดโอกาสให้หยุดพักการเรียนได้ และสามารถใช้ระยะเวลาการเรียนได้นานถึง 12 ปี จึงจะถือว่าสิ้นสุดความเป็นนักศึกษา .-สำนักข่าวไทย