สศช. 7 ก.ย.-“วิษณุ” เผยที่ประชุมร่วมของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบร่างระเบียบการประชุม และร่างระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีการในการยกร่างแผนปฏิรูป และการรับฟังความคิดเห็น โดยกรอบร่างแผนปฏิรูป ร่างที่ 1 ต้องแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเสนอและไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนที่จะปรับปรุงให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมร่วมของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในร่างระเบียบ 2 ฉบับ คือ ร่างระเบียบที่เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ คณะต่าง ๆ ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการชุดต่าง ๆ เริ่มเดินหน้าทำงานได้ และเห็นชองร่างระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการในการยกร่างแผนปฏิรูปและการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะใช้การรับฟังความคิดเห็นในทุกรูปแบบ ทั้งการออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และการเชิญหน่วยงานราชการมาให้ความเห็น รวมถึงการไปพบกับมวลชนกลุ่มต่าง ๆ เอ็นจีโอ และการรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ได้ทำความเข้าใจในที่ประชุม ถึงกรอบที่จะยกร่างการปฏิรูป เพื่อให้คณะกรรมการทุกชุดได้เข้าใจตรงกัน โดยให้ยึดหลัก 3 ด้าน คือ 1.ให้ยึดตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 257-260 ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปไว้แล้ว 2.ให้นำข้อสรุปจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เคยทำไว้กว่า 130 เรื่อง นำมาประกอบการพิจารณา และ 3.เป็นเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ไปคิดกันเอง จากผลการรับฟังความเห็นจากประชาชนและให้นำความเห็นจากแต่ละด้านมาสรุปเป็นแผนคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดในอีก 8 เดือนข้างหน้า คือ เดือนเมษายน 2561
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน สามารถเดินหน้าทำงานได้ทันที โดยจะต้องทำกรอบร่างแผนปฏิรูป ร่างที่ 1 ให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2560 เพื่อเสนอและไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนที่จะปรับปรุงให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งแผนปฏิรูปที่ออกมาจะเป็นแผนที่ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม และคณะกรรมการปฏิรูปจะทำหน้าที่คอยตรวจสอบดูแล ติดขัดตรงไหน หรือแผนปฏิรูปไม่ดี ก็จะแก้ไข
ทั้งนี้หากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิรูป จะมีโทษหนักหรือไม นายวิษณุ กล่าวว่า จะไม่ถึงขั้นระบุถึงการลงโทษ เพราะบางครั้งอาจจะทำด้วยความไม่รู้ อาศัยความเคยชินเก่า ๆ แต่จะใช้วิธีการให้คำแนะนำถึงแนวทางที่ถูกต้อง แต่หากยังจงใจที่จะฝ่าฝืน จะใช้มาตรการทางการบริหารการปกครอง
“ถ้าหากคุณเป็นอธิบดี ทำไม่ได้ใช่หรือไม่ คุณทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ เดี๋ยวให้คนอื่นมาทำ คุณก็ไปเป็นผู้ตรวจแทน อะไรทำนองนั้น จนกระทั่งไปถึงจุดนึง ที่ทำตรงข้ามเลย หน้ามือหลังมือ หากเป็นแบบนั้นก็คงต้องใช้ มาตรการที่รุนแรงไปถึงขั้นกฎหมาย แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ผมเชื่อว่าพูดนิดเดียวเขาก็ยอมแล้วล่ะ อย่างน้อยมันมีเครื่องมืออยู่ในมือของรัฐบาล สำหรับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น แต่งตั้งโยกย้าย ตัดงบประมาณ และอาจใช้วิธีไม่ลงโทษ แต่ให้รางวัลจูงใจ เพิ่มงบฯ ให้หน่วยงานที่เขาเต็มใจปฏิบัติตาม มันไม่ไปถึงขั้นติดคุกติดตารางกันง่าย ๆ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แผนปฏิรูปที่ออกมา หน่วยงานก็ต้องยึดปฏิบัติตามภายใน 5 ปีนี้ แต่บางเรื่องต้องดำเนินการภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ขอยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องทำตามแผนปฏิรูปทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องใดที่อยู่นอกเหนือการปฏิรูป ถือเป็นการปฏิบัติตามราชการตามปกติ และแผนการปฏิรูปฯ อาจจะไม่ลงไปในรายละเอียด แต่อาจจะเขียนกฎหมายฉบับหนึ่งและให้กรมต่าง ๆ ไปร่างระเบียบเอง ถือเป็นความอิสระคล่องตัวอยู่ และหากกระทรวงใด เห็นว่าอาจจะว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ให้เสนอมา เพื่อที่จะแก้แผนปฏิบัติรูปได้ ซึ่งการแก้ไขแผนปฏิรูปสามารถทำได้ง่าย.-สำนักข่าวไทย