กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมระบุไทยเนื้อหอมญี่ปุ่นและหลายชาติสนใจติดต่อเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง สัปดาห์หน้า 11-13 ก.ย.เมตินำนักลงทุนญี่ปุ่น 560 ราย ดูลู่ทางลงทุนอีอีซี คาดเริ่มเห็นโครงการลงทุนชัดเจนไตรมาส 3 ส่วน พ.ร.บ.อีอีซี คาดเข้า ครม.ปลายเดือนนี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยหากพิจารณาในแง่ความน่าสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ถือว่าเป็นประเทศที่เนื้อหอม ฉายแววโอกาสสดใสของการเข้ามาลงทุน จากนโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่นจะนำคณะผู้ประกอบการญี่ปุ่น 560 ราย พร้อมสื่อมวลชน 40 ราย มาดูลู่ทางลงทุนในไทยโดยเฉพาะโครงการอีอีซี และจะเริ่มเห็นโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นชัดเจนไตรมาส 3 ปีนี้
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 130 ปีอีกด้วย โดยบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีแล้ว เช่น ฮิตาชิ เป็นต้น และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานอีอีซี จัดทำแผนชัดเจนถึงความสนใจเข้ามาลงทุนโครงการอีอีซีใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นรายประเทศ รายอุตสาหกรรม และรายชื่อบริษัท เพื่อให้ภาคเอกชนไทยทำงานร่วมกับเอกชนญี่ปุ่นสะดวกขึ้น คาดว่าภายใน 3 สัปดาห์นับจากนี้ไปจะเห็นแผนปฎิบัติการที่ชัดเจน ส่วนความพร้อมด้านกฎหมายรองรับโครงการอีอีซีนั้น ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้านองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ หรือเจโทร กรุงเทพฯ มีผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ระบุชัดเจนว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจมากต่อโครงการอีอีซี บางส่วนมีแผนงานที่จะขยายการลงทุน ส่วนที่ยังไม่ลงทุนในไทยก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต่อไป และอยากได้ข้อมูลชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไทยมีความชัดเจนเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักตามกรอบการลงทุนลักษณะ PPP ปีหน้าจะทราบผู้ที่จะลงทุน
นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้บรรยากาศการค้า การลงทุนของไทยภาพรวมดีขึ้น สะท้อนจากตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงก่อนหน้านี้ และยังสะท้อนได้จากดัชผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นทางการค้าก็สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน การเดินทางเข้ามาของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น 560 ราย ถือเป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนความสนใจของนักลงทุนต่อไทย ขณะที่นักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ก็มีคณะเข้ามาหารือและสอบถามการเข้ามาลงทุนในไทยเช่นกัน เป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นในบรรยากาศการลงทุนของไทยว่าจะดีขึ้น รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่จะตามมา ส่วนเรื่องภาครัฐของไทยนั้น ขณะนี้ไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป เนื่องจากมีการเข้ามาติดต่อค้าขายอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าตัวเลขการเข้ามาลงทุนในไทยจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ขอย้ำว่าไทยแววดี ได้รับความสนใจ รวมถึงผู้ประกอบการไทยสนใจอีอีซี หรือลงทุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื่้นที่อื่นเพิ่มขึ้นชัดเจน โอกาสการลงทุนทั่วไทยไม่จำกัดอีอีซี เท่านั้น อีอีซีเป็นพื้นที่หนึ่งเท่านั้นที่รัฐบาลให้การสนับสนุนต่อจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ปรับระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีมูลค่าเพิ่มสูง
สำหรับการเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่นำโดยรัฐมนตรีเมติวันที่ 11 กันยายนนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะให้เข้าพบเพื่อรับทราบนโยบายรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสามารถสอบถามนโยบายจากนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง
ส่วนวันที่ 12 กันยายน จะจัดสัมมนาสร้างความเชื่อมโยงทางธุรกิจ โดยฝ่ายไทยเสนอข้อมูลโอกาสความร่วมมือไทยญี่ปุ่นหัวข้อ “Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries” โอกาสนี้ รัฐมนตรีเมตินำเสนอมุมมองความร่วมมือญี่ปุ่นกับไทย โดยนำผลการศึกษามาเสนอ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่นำสู่กิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น ข้อตกลงระหว่าง KINDANREN, JETRO, JICA SMRJ ที่จะนำไปสู่การหารือแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่มีศักยภาพ 300 ราย กับคณะของนักธุรกิจญี่ปุ่น 5 โซน แบ่งเป็นภาคเอกชน 4 โซนได้แก่ โซน Automobiles โซน Electronics โซน Medical & Agricalture, Biotechnology, Food และโซน Service Industries และโซนภาครัฐที่เกี่ยวข้องก้บการลงทุน
สำหรับการลงนาม MOU & MOI มีทั้งหมด 7 ฉบับ คือ 1.สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) 2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) 3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด (Flex Campus) 4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครกับบริษัท Hitachi 5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) 6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) 7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และบริษัท JC Service Co.,Ltd. ส่วนวันสุดท้าย 13 กันยายน คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นจะลงพื้นที่อีอีซี โดยรัฐมนตรีเมตินำคณะลงพื้นที่เอง. – สำนักข่าวไทย