กทม.6ก.ย.- กทม.เปิดการใช้ระบบสูบน้ำโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 6.4 กม.กำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที ช่วยเร่งระบายน้ำท่วมขังจากฝนตกบนถนนสายสำคัญลงแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น
บ่ายวันนี้ (6 ก.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้ระบบสูบน้ำโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างเป็นทางการ โดยมีคณะผู้บริหาร กทม.พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างสถานีสูบน้ำอุโมงค์บางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 1 เขตดุสิต
ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ได้ก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้า ร้อยละ 95.24 เหลือเพียงงานเก็บรายละเอียดภายนอกอีกเล็กน้อย ซึ่งพร้อมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว วันนี้จึงได้เปิดระบบเดินเครื่องสูบน้ำ ระบบไฟฟ้าและอุโมงค์ระบายน้ำ พร้อมทั้งห้องควบคุมทั้งระบบ
อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาวประมาณ 6.4 กม.เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ใน 6 เขต ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และเขตห้วยขวาง มีอาคารรับน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อาคารรับน้ำถนนรัชดาภิเษก อาคารรับน้ำถนนวิภาวดีรังสิต และอาคารรับน้ำถนนกำแพงเพชร เป็นจุดรับน้ำระหว่างทาง มีสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า การเปิดระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนตกในบริเวณถนนสายสำคัญ ทีี่มีจุดอ่อนน้ำท่วมขัง อาทิ ถนนพหลโยธิน ช่วงสี่แยกสะพานควาย-ห้าแยกลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงสี่แยกสุทธิสาร-ห้าแยกลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยกรัชโยธิน-คลองบางซื่อ ถนนลาดพร้าว ช่วงสี่แยกรัชดาลาดพร้าว-คลองบางซื่อ ถนนกำแพงเพชร ช่วงใต้ทางด่วนศรีรัช-ตลาดนัดสวนจตุจักร ถนนสามเสน ช่วงคลองบางกระบือ-สี่แยกเกียกกาย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวด ช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในคลองบางซื่อจากโครงการบำบัดน้ำเสียระยะที่ 4 ปริมาณ 300,000 ลบ.ม./วัน และสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 60 มม./ชั่วโมง โดยช่วยเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ดังกล่าวออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เป็นการลดระยะเวลาการเดินทางของน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.มีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว จำนวน 7 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 19 กม.มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 155.50 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ม. ความยาวประมาณ 1.10 กม. อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 ม. ความยาวประมาณ 1.88 กม. อุโมงค์ระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.40 ม.ความยาวประมาณ 6.79 กม. และ 1.50 ม. ความยาวประมาณ 1.90 กม. อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม.ความยาวประมาณ 1.32 กม. อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม. ความยาวประมาณ 1.10 กม.อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 ม.ความยาวประมาณ 5.98 กม. และอุโมงค์ระบบระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว (อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาวประมาณ 5.11 กม. .-สำนักข่าวไทย