พิษณุโลก 6 ก.ย. – อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร เตรียมต่อยอดส่งเสริมปลูกมะม่วงมหาชนก หลังพบสารต้านมะเร็งในมะม่วงสุก พร้อมให้ความรู้ในการใช้สารละลายเมทิลจัสโมเนต เพื่อทำให้มะม่วงมีผลสีแดง เป็นที่ต้องการของตลาด
ที่ห้องปฏิบัติการกลาง คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ เปิดเผยหลังศึกษาและวิจัยพบว่า มะม่วงมหาชนกผลสุก มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ามะม่วงสายพันธุ์อื่น แต่กลับยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แม้รสชาติจะดีและราคาถูกกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุว่า หลังฉีดพ่นสารละลายเมทิลจัสโมเนตไปแล้ว จะทำให้มะม่วงมหาชนกมีสารเบต้าแคโรทีนสูงขึ้น ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือสารต่อต้านมะเร็ง จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงมหาชนกในเชิงพาณิชย์ พร้อมต่อยอดให้ความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกรในการใช้สารละลายเมทิลจัสโมเนต ให้มะม่วงมหาชนกมีผลสีแดง และเวลาสุกยังมีสารแคโรทีนเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะมะม่วงมหาชนกทั่วไปผิวเปลือกจะเป็นสีแดง ไม่ทั่วถึงทุกผล
สำหรับสารละลายเมทิลจัสโมเนต เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สังเคราะห์มาจากกรดไขมัน คือ กรดลิโนเลนิก ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดสีในเปลือกผลไม้ได้ ไม่มีอันตรายต่อพืช และผู้บริโภค เพราะสกัดจากสารธรรมชาติ โดยในต่างประเทศ ญี่ปุ่น อเมริกา ใช้ในการเร่งสีแดงในแอปเปิล นอกจากจะเป็นตัวเร่งให้เกิดสีแดงในผลไม้ต่าง ๆ แล้ว ยังยืดอายุการเก็บรักษาของผลไม้อีกด้วย. – สำนักข่าวไทย