ทำเนียบฯ 3 ก.ย.- นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุม BRICS ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะแขกของประเทศจีน และจะมีการหารือทวิภาคีกับ สี จิ้น ผิง และ วลาดิเมียร์ ปูติน
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัตถุประสงค์การเข้าร่วมประชุม ครั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2560 ได้จัดการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue หรือ EMDCD) โดยจีนได้เชิญประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน 5 ประเทศ ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ ได้แก่ 1. ไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสาคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน 2. สหรัฐ เม็กซิโก ในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 และตัวแทนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา 3. สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง 4. สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และ 5. สาธารณรัฐกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU)
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า หัวข้อหลักของการประชุม EMDCD คือ การเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งประเด็นหลักที่จีนให้ความสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการปฏิบัติการเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือใต้-ใต้ ในโอกาสนี้ ไทยจะเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ต่อยอดจากการเป็นประธานกลุ่ม 77 และเป็นแขกรับเชิญพิเศษของจีนเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ในปี 2559 รวมถึงบทบาทนำในการเป็นประเทศผู้ให้ภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม นายกรัฐมนตรี จะชี้ให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเป็นแกนกลางอาเซียน ที่ประโยชน์จะไม่ได้เกิดกับประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ตามมา ทั้งการค้า การลงทุน การเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ของกลุ่มบริก เข้ามาใช้ศักยภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะพูดถึงเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย การร่วมกันขจัดการก่อการร้าย และการป้องกันไม่ให้ขยายตัว
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า อีกประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและมีบทบาทที่ชัดเจนตลอดมาคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะแบ่งปันประสบการณ์การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ขณะเดียวกันก็จะเรียนรู้ความเชี่ยวชาญของภูมิภาคอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มบริกให้ความสำคัญกับเรื่องแหล่งทุน ที่มาของเงินสนับสนุนการก่อการร้าย การตัดแหล่งทุน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการลงนามความร่วมมืออย่างน้อย 2 ฉบับ อาทิ ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เรื่องความมั่นคงปลอดภัย เรื่องเส้นทางการเงินต่างๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปราบปรามภัยจากการก่อการร้าย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ ประเทศสมาชิกอื่นๆ ด้วย ซึ่งหัวข้อหารือจะชี้แจง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี .-สำนักข่าวไทย