กรุงเทพฯ 31 ส.ค.- ศาลฎีกายืนยกฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายการชุมนุมปี 53 ชี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เดินทางมาฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ฐานร่วมกันก่อให้เกิดการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ตามที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องไม่รับสำนวนไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการยื่นฟ้องกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมพร้อมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ากระชับและขอคืนพื้นที่โดยใช้กระสุนปืนจริง ซึ่งเป็นคำสั่งของนายสุเทพ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ศาลได้นำมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2558 มาพิจารณาร่วมด้วย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้ต้องให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไต่สวนและยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ของดีเอสไอ ทำสำนวนส่งอัยการ ฟ้องศาลอาญา เนื่องจากคดีมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง คดีนี้จึงสิ้นสุด
ขณะที่นายสุเทพ เปิดเผยว่า หากสำนักงาน ป.ป.ช.จะยื่นฟ้องใหม่ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็พร้อมต่อสู้คดี ซึ่งที่ผ่านมาได้เขียนหนังสือชื่อว่า “คำให้การ” ที่รวบรวมพยานหลักฐานและขั้นตอนการปฏิบัติของตัวเองอย่างละเอียด ระหว่างที่สลายการชุมนุมไว้ทั้งหมด และจะสามารถนำไปชี้แจงต่อศาลได้
ส่วนความแตกต่างคดีนี้กับคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 คือ การออกคำสั่งสลายการชุมนุมเป็นการออกภายใต้การประกาศพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และในการออกคำสั่งมีคณะกรรมการรับรองมติ ส่วนการสั่งให้ใช้แก๊สน้ำตาได้เปลี่ยนเป็นแบบขว้างแทนแบบยิงด้วยปืน เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย