กระทรวงแรงงาน 28 ส.ค.-พนักงานต้อนรับการบินไทย ร้องกระทรวงแรงงาน ได้รับค่าชดเชยไม่เป็นธรรม กระดูกสันหลังหักขณะปฎิบัติหน้าที่จนไม่สามารถทำงานได้ สุดท้ายถูกเลิกจ้าง
นางสุธิดา สังขพงศ์ อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมนายปริญ เกษะศิริ ทนายความ เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความเป็นธรรมหลังถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
นางสุธิดา เปิดเผยว่า ปัจจุบันอายุ 41 ปี ทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อน รับกับบริษัท การบินไทย มานานกว่า 16 ปีแล้ว จนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เที่ยวบิน ขอนแก่น-กรุงเทพ ชั้น Business Class ตามปกติ แต่ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่บนชั้นที่ตนรับผิดชอบได้เก็บของเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเนื่องจากเที่ยวบินดังกล่าวใช้เวลาเดินทาง 40 นาที จึงได้ลงมาช่วยน้องๆพนักงานต้อนรับชั้น economy เพื่อจะได้เก็บของให้เสร็จทันก่อนเครื่องลงถึงกรุงเทพฯ ซึ่งระ หว่างที่เก็บรถเข็นอาหารเข้าในครัวของชั้น economy นั้น เครื่องบินเกิดตกหลุมอากาศอย่างแรง โดยที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนยังไม่ ได้รัดเข็มขัด ทำให้กระดูกสันหลังของตนหัก และต้องลางานเพื่อรักษาตัวนานกว่า 8 เดือน โดยทางบริษัทเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย และเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถทำงานได้ จึงกลับมาทำงานเช่นเดิม แต่พบว่ายังมีอาการเจ็บที่หลัง นั่งนานไม่ได้ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงถูกนายจ้าง คือบริษัท การบินไทย เลิกจ้าง โดยให้เหตุผลว่า ร่างกายไม่สมบูรณ์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ พร้อมให้ค่าชดเชยกรณีทุพพลภาพ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน รวมเป็นเงินกว่า 4 แสนบาท มองว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่เป็นธรรม เนื่องจากในส่วนทางบริษัทนำรายได้ในช่วงที่ไม่ได้บินอัตรา 2 หมื่นกว่าบาทต่อเดือนมาเป็นฐาน แต่กลับไม่นำรายได้ขณะบิน ซึ่งประมาณ 7 หมื่นกว่าบาทต่อเดือนมาคำนวน วันนี้จึงเข้าร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานเพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องของค่าชดเชย และการเยียวยาทางแพ่ง เพราะได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน จนไม่สามารถทำงานต่อได้ตลอดชีวิต ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับรายได้จนกว่าจะถึงอายุเกษียณ ซึ่งเหลืออีก 19 ปี รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท
ด้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่นิติกร และแรงงานสัม พันธ์ เข้าไปดูแลตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ผู้เสียหายรับเงินชดเชยมาแล้ว ต้องดูว่าเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือไม่ และสิ่งที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษคือเรื่องการเจ็บจากการทำงาน ว่าจะเยียวยาเพิ่มเติมอย่างไร รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เดียวกัน จะต้องเสมอภาคกัน อย่างเรื่องของประกันอุบัติเหตุด้วย โดยจะนัดหารือเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ยืนยันจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุระ หว่างการทำงานภาพรวมทั้งประเทศลดลง แต่มีบางกิจการที่มีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น งานก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้า เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย