รร.บางกอกแมริออท 24 ส.ค. – รองนายกเศรษฐกิจย้ำแนวทางประชารัฐช่วยสร้างความเข้มแข็งรายย่อย เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ระบุทุกฝ่ายร่วมรักษาระดับการฟื้นตัวของจีดีพีจะเติบโตได้ร้อยละ 4-5 ขณะที่มูลนิธิสัมมาชีพหนุนวิสาหกิจชุมชน-เอสเอ็มอี เป็นต้นแบบดำเนินธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ต้นแบบสัมมาชีพ สร้างให้เต็ม เติมรากฐานให้แข็งแรง” ระหว่างการจัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 60 ว่า จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 3.7 แม้พอใจ หากทุกฝ่ายร่วมกันรักษาการขยายตัวระดับนี้จะได้เห็นจีดีพีขยายตัวร้อยละ 4-5 แต่หากไม่เร่งปฏิรูปช่วงนี้จีดีพีลดลงแน่นอน จึงต้องใช้โอกาสนี้เร่งปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเกษตร เอสเอ็มอี ยอมรับมีปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยกู้ จึงขาดทุนหมุนเวียน เกษตรกรไทย 25 ล้านคน สัดส่วนร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลจึงต้องดูแลเพื่อให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาแข็งแต่เปลือกเติบโต ไม่กระจาย คนจนจำนวนมาก แต่คนรวยมีน้อยเพียงไม่กี่คน ชาวนา เอสเอ็มอียังมีปัญหา เศรษฐกิจพึ่งพาแต่การส่งออกเพียงบริษัทกลุ่มเดียว แนวคิด “ประชารัฐ” จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนรายใหญ่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการช่วยเหลือทุกด้านให้กลุ่มวิสหากิจชุมชน เอสเอ็มอี หากรายย่อยอยู่ได้เอกชนรายใหญ่ก็อยู่รอด รัฐบาลจึงต้องดูแลฐานราก ทั้งเสริมความรู้ พัฒนาแรงงานฝีมือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน หลังจากเปิดลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน เตรียมเสนอ ครม.เร็ว ๆ นี้ เพื่อเริ่มให้สวัสดิการเดือนตุลาคม ทั้งค่าใช้จ่าย รถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า รวมทั้งนำเงินไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐ จึงต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำรายการสินค้าจำเป็นให้รายย่อยเลือกซื้อ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ พร้อมเตรียมดึงภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ร่วมบริจาคให้สวัสดิการคนรายได้น้อยเพิ่มอีกด้านหนึ่ง ขณะนี้กำลังศึกษาแนวคิดดังกล่าว
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ในฐานะประธานคณะกรรมการการจัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ 2017 กล่าวว่า คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New-S-Curve) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทไบโอชีวภาพ เพื่อพัฒนา Bioeconomy ระยะ 10 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 400,000 ล้านบาท หวังผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Bio Hub ในภูมิภาคเอเชีย โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เนื่องจากไบโอชีวภาพเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมจากรัฐบาล
ส่วนการมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ เพื่อส่งเสริมภาคเอกชน เอสเอ็มอี วิสหากิจชุมชน พัฒนามุ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแบบห่วงโซ่ ขณะนี้รัฐบาลและภาคเอกชนทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เอกชนรายใหญ่ได้เป็นพี่เลี้ยง ช่วยแนะนำทั้งการผลิต บริหารจัดการ การตลาด เพื่อผลักดันวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีได้มีช่องทางจำหน่าย พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน ด้วยการผลิตสินค้าที่รับผิดชอบต่อสังคมทั้งด้านบริการ คุณภาพ โดยมูลนิธิสัมมาชีพมอบรางวัลให้กับ “บุคคลธุรกิจต้นแบบ” ให้กับนายตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) KCG ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนม แยม คุกกี้ ตราอิมพิเรียล เนยอวารี่ น้ำส้มซันควิก นับเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับชุมชนเกษตรกรในชนบทและชุมชนเมือง และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดดำเนินธุรกิจ
สำหรับรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ วิสาหกิจชุมชนนาต้นจั่น สร้างรายได้จากการทอผ้า หัตกรรม และกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมากกว่าร้อยละ 70 ของหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชนอุ่มแสง ผลิตข้าวอินทรีย์จนได้มาตรฐาน สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายข้าวอินทรีย์ 55 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพเป็นการเชื่อมข้อต่อระหว่างธุรกิจกับชุมชน เช่น บริษัท ทีเจ เฮ้าส์ จำกัด พัฒนาเครื่องสำอางจากรังไหม ผ่านงานวิจัยกับมหาวิทยาลัย เพื่อแปรรูปจากไหมไปสู่เครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจทุกประเภทดำเนินกิจการไปด้วยการรับผิดชอบต่อสังคม
นายตง กล่าวว่า ธุรกิจจะเติบโตได้ต้องรู้จักใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ จึงตัดสินใจซื้อกิจการเนยอวารี่จากต่างชาตินำมาบริหาร และตลอดการดำเนินธุรกิจไม่เคยปฏิเสธการเสนองาน แต่ยอมรับอย่างมีเงื่อนไข เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้เสนอผลงาน เพื่อนำมาพิจารณาชี้แนะ อีกทั้งการประกอบธุรกิจยุคใหม่ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกไม่เช่นนั้นจะยืนในตลาดอย่างลำบาก และต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า.-สำนักข่าวไทย