สระบุรี 23 ส.ค.- รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่สระบุรีตรวจความพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก เพื่อขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนภายในปี 62 ด้าน ผอ.องค์การเภสัชกรรม เผยหากมีการระบาดของโรคระหว่างนี้ ยังมีโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนได้ทันทีควบคุมสถานการณ์
วันนี้ (23 ส.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัด ขององค์การเภสัชกรรม ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมี นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี รายงานความคืบหน้า
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ประกอบด้วยงานหลัก 2 ด้าน คือ ด้านพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และด้านก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ดำเนินการคู่ขนานสอดคล้องกันไป ในส่วนการก่อสร้างโรงงานได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท สร้างโรงงานอุตสาหกรรมมาตรฐาน WHO GMP ที่ตำบลทับกวาง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการสอบคุณภาพ (Qualiflcation) รวมถึงเครื่องจักรและเครื่องมือสำคัญ ขั้นตอนต่อไปเป็นการสอนระบบต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบทั้งระบบห้องผลิตและสนับสนุนการผลิตให้การทำงานประสานกันตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน และนำไปทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อเป็นข้อมูลขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อโรงงานได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งรัดแล้ว คาดว่าในปี 2562 จะสามารถผลิตวัคซีนกระจายสู่ระบบสาธารณสุขระดับประเทศได้
ด้าน นพ.นพพร กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza Vaccine) เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโด้สและสามารถขยายกำลังได้ถึง 10 ล้านโด้ส และในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ สามารถขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza vaccine) ได้ปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของประชากรในประเทศ และภูมิภาคอาเซียนด้วย ระหว่างนี้หากเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในประเทศ โรงงานต้นแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม และองค์การฯ มีใบอนุญาตผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้ในการระบาดที่โรงงานต้นแบบนี้แล้ว ซึ่งถ้ามีเหตุฉุกเฉินขึ้นจริง ๆ องค์การฯ จะใช้โรงงานต้นแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากรผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์ได้ แต่กำลังการผลิตไม่สูงมากนักประมาณ 2 แสนโด้สต่อเดือน อาจต้องพิจารณาให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนในช่วงแรก ๆ ก่อน ดังนั้น จึงเห็นว่าการเร่งรัดให้โรงงานวัคซีนที่สระบุรีนี้ความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคได้ในวงกว้าง.-สำนักข่าวไทย