กทม. 21 ส.ค. – สำนักข่าวไทยรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของทหารทั้งระดับพลทหารไปถึงยศสิบโท ซึ่งผลชันสูตรระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต โดยพบว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 4 นาย
เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์นายทหารสั่งลงโทษ (ซ่อม) และรุมทำร้ายพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม สังกัดมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต สุราษฎร์ธานี จนเสียชีวิต ซึ่งผลชันสูตรพบว่าถูกทำร้ายร่างกายจนไตทำงานผิดปกติ จนมีการดำเนินคดีกับทหารที่ก่อเหตุ 10 นาย คดีอยู่ในชั้นศาล
เหตุการณ์ที่ 2 กรณีของพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทหารสังกัดค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งถูกลงโทษและทำร้ายร่างกายจนบอบช้ำ จนมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด 6 นาย
เหตุการณ์ที่ 3 เป็นกรณีของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ทหารค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ เสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัวในเรือนจำ ผลการไต่สวนการเสียชีวิต พบว่าสิบโทกิตติกร ถูกทหารคุมเรือนจำพร้อมพวก ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง และกระเพาะอาหารแตก มีการดำเนินคดีกับทหารที่ก่อเหตุ 4 นาย
และอีกเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม สังกัดกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อดีตนักศึกษาปริญญาโท และลาสิกขาเพื่อสมัครเข้ารับใช้ชาติ แต่ถูกทำร้ายร่างกายจนไตวายและกล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง กรณีนี้มีการลงโทษทหารที่ก่อเหตุ 10 นาย และกองทัพภาคที่ 4 ชดเชยสินไหม 530,000 บาท
การซ่อม หรือลงโทษลักษณะรุนแรง เป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476
แม้ทหารผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมผิดวินัย อาทิ ขัดคำสั่ง ไม่เคารพระเบียบระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย เกียจคร้านละทิ้งหน้าที่ ใช้วาจาไม่สุภาพ หรือเสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยาได้ แต่มาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่า อำนาจการลงโทษหากกระทำผิดวินัยมี 5 สถาน ไล่เรียงตั้งแต่การภาคทัณฑ์ การทัณฑกรรม คือการทำงานสาธารณประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม การกัก คือการกักตัวไว้ในที่ใดที่หนึ่ง การขัง คือ การคุมขังในที่ควบคุม และหนักสุดคือ จำขัง คือการส่งไปให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร ที่สำคัญคือในวรรคสุดท้ายของมาตรานี้ ระบุไว้ชัดว่า นอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้ 5 ประการนี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นเด็ดขาด. – สำนักข่าวไทย