จ.สุรินทร์ 21 ส.ค.-คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา ลงพื้นที่สำรวจความเห็นก่อนร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเด็กยากจน หลังพบสถิติ จ.สุรินทร์ มีเด็กออกนอกระบบการศึกษามากที่สุดในประเทศ สาเหตุหลักจากความยากจน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน พร้อมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาด้านกองทุน ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็น การจัดตั้งกองทุนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพครู หลังครม.เเต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวขึ้น เพื่อให้จัดทำข้อเสนอเเนะเเละร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ จึงได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนเเละผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ก่อนจะนำข้อมูลมาประกอบการจัดตั้งกองทุนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ต่อไป
โดยการประชุมครั้งนี้เลือก จ.สุรินทร์เพราะเป็นจังหวัดที่มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษากลางคันมากที่สุดในประเทศ จ.สุรินทร์เองจึงได้มีการตั้งสมัชชาการการศึกษาขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในและนอกระบบการศึกษา การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ และมีภาคีเครือข่ายปัญจภาคี ประกอบด้วย พ่อแม่ผู้ปกครอง สถานศึกษาทั้งใน-นอกระบบ การศึกษาทางเลือก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เเละสภาเด็กและเยาวชน จึงทำให้เด็กหลายคนเข้าระบบการศึกษามากขึ้น
นายประสาร กล่าวว่า การร่างกฎหมายจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของคนที่อยู่ในพื้นที่เเละปฏิบัติงานจริง กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือ เเต่มองว่าสิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ดีก็ทำลายโครงสร้างต่างๆได้ เเละหากกองทุนประสบความสำเร็จ คาดว่า10ปีข้างหน้า จะทำให้เด็กเล็กในครอบครัวยากจนได้รับการดูเเล ขจัดปัญหาเด็กนอกระบบเเละเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา-อาชีวศึกษา มีระบบประกันคุณภาพทางการศึกษาเเละพัฒนาครูในพื้นที่ห่างไกลให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลังการรับฟังความเห็นในเวทีที่จ.สุรินทร์ คณะอนุกรรมการก็จะเดินทางไปรับฟังความเห็นอีก 3จังหวัดใน 3 ภูมิภาค ก่อนนำไปยกร่างกฎหมายภายในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาร่างเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเเล้วเดือนเมษายนปี 2561 .-สำนักข่าวไทย