กรุงเทพฯ 21 สค. – กฟผ.คาดโรงไฟฟ้าเทพาเริ่มผลิตปี 65 หลัง คชก.เห็นชอบ EHIA ยืนยันข้อมูลครบถ้วน ฟังความเห็นรอบด้าน
นายอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟ ช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้คาดว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ. สงขลาจะล่าช้ากว่าแผนไป 1 ปี หรือเครื่องแรกจะเสร็จปี 2565 หลังจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เห็นชอบผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA ) ในส่วนของโรงไฟฟ้าเทพาเมื่อวันที่17 สิงหาคม 2560 ขณะนี้รอ คชก.ให้ความเห็นชอบ EHIA ในส่วนของโครงการท่าเทียบเรือถ่านหิน ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมตรีเป็นประธานและ ครม.ต่อไป
“การพิจารณารายงาน EHIA โรงไฟฟ้าเทพากว่าจะเห็นชอบใช้เวลา 665 วัน แถมมีหลักฐานเอกสารรายงานแจ้งเอ็นจีโอ จึงไม่มีการลักหลับ ทุกขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการโรงไฟฟ้าเทพาทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน มีรายงานสรุป ค.1 ค.2 และ ค.3 ไม่เคยปิดกั้นผู้เห็นต่างทุกเวที สามารถตรวจสอบรายชื่อในรายงานได้” นายอนุชาต กล่าว
นายอนุชาติ กล่าวว่า การดำเนินการขณะนี้ กฟผ.จะเดินหน้าจัดซื้อที่ดินโรงไฟฟ้าเทพาพื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่ ให้เสร็จสิ้น ขณะที่การประมูลและการเดินหน้าเรื่องอื่น ๆ คงทำควบคู่กัน
ทั้งนี้ ข้อมูล กฟผ.ระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตติดตั้ง (Gross Capacity) ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ตามแผนนั้น มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เครื่องที่ 1 ปี 2564 และเครื่องที่ 2 ปี 2567 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่ โดยมีการพัฒนาท่าเทียบเรือด้านหน้าโครงการเพื่อรับเรืองขนส่งถ่านหินบิทูมินัส/ซับบิทูมินัส ที่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ มีการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 70-80 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการไฟยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงหาดใหญ่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (Thermal Power Plant) ซึ่งเหมาะสำหรับเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าฐาน ซึ่งใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง หลักการทำงานเป็นกระบวนการเผาไหม้ในการเลปี่ยนรูปพลังงานเคมีที่อยู่ในเชื้อเพลิงถ่านหินให้กลายเป็นความร้อน โดยอาศัยออกซิเจนเป็นตัวช่วยให้เกิดปฎิกิริยาภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม พลังงานความร้อนที่ได้จะใช้ในการผลิตไอน้ำแรงดันสูงเป็นพลังในการขับเคลื่อนเครื่องกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้หมุน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า สำหรับเทคโนโลยีการเผาไหม้ที่โครงการใช้เป็นการเผาไหม้ผงถ่านหินละเอียด (Pulverized Coal Combustion) โดยเลือกใช้เทคโนโลยีหม้อน้ำชนิด Ultra-Supercritical (USC) ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันและอุณหภูมิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจัดเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดประสิทธิภาพสูงและเป็น Advance Technology โดยมีประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 42-45 ทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง จึงมีผลให้ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นับเป็นเทคโนโลยีดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์.-สำนักข่าวไทย