กรุงเทพฯ 20 ส.ค.- เครือข่ายองค์กรชาวนาไทย ชี้ ทางออกปัญหาชาวนา คือ ลดพึ่งพาภาครัฐ ชาวนารวมตัวเข้มแข็ง กำหนดทิศทางของตนเองเพื่อปลดหนี้ให้เป็นศูนย์ ตั้งเป้าสำเร็จภายใน 5 ปี
เครือข่ายองค์กรชาวนาไทย ร่วมกับสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐานและภาคีเครือข่ายชาวนา จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ จุดเปลี่ยนชาวนาไทยในยุค 4.0 ทางเลือกทางรอด ที่โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ กรุงเทพฯ
โดยนายเมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวว่า ไม่ว่าปัญหาของชาวนาจะซับซ้อนเพียงใด ก็ต้องแก้ไข และจะร่วมมือกันทำในสิ่งที่ทำได้ ที่ผ่านมา เรื่องข้าวเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมือง แต่ชาวนาก็ยังประสบปัญหาอยู่ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ดังนั้นจึงต้องปลดหนี้ให้เป็นศูนย์โดยไม่ต้องให้หนี้สินกลับมาอีก
นายเมธี กล่าวว่า เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องแก้ไขปัญหา โดยเริ่มต้นด้วยความสมัครใจและความพร้อมของชาวนา จากนั้น จะเลือกชาวนาที่เป็นหนี้ของ ธ.ก.ส.ก่อน เพราะมีตัวเลขหนี้สินที่ชัดเจน จากนั้นจึงพิจารณาชาวนาที่เป็นหนี้สินจากส่วนอื่นต่อไป ชาวนาต้องแบ่งการผลิตเป็น 2 หลักคือ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยกินข้าวที่ตัวเองปลูก และอีกหลักหนึ่งคือ การทำนาแปลงใหญ่โดยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ปริมาณและคุณภาพควบคุมได้
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า หากชาวนาปรับตัวให้เข้มแข็ง ก็จะสามารถยืนอยู่ได้ โดยยกระดับชาวนารายย่อยให้ก้าวทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าและสร้างความมั่นคงในอาชีพ ทั้งการสร้างวิธีการจัดการใหม่ พันธุ์จำเพาะ วิธีการผลิตจำเพาะ สร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ ต้องยกระดับการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ยกระดับกระบวนการผลิตและการตลาดของชุมชนให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่าย สร้างความได้เปรียบ ยกระดับทุ่งนาเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งหากดำเนินการเช่นนี้ ก็จะเป็นทางรอดของชาวนาไทย
นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวนายังอ่อนแออยู่ เพราะยังไม่มีความเป็นเอกภาพ แม้ว่าจะพยายามรวมกลุ่มให้เป็นกลุ่มเดียว แต่ยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีนโยบายดี ๆ หลายเรื่อง แต่ในแนวทางปฏิบัติกำลังจะล้มเหลว เพราะการบริหารจัดการของภาครัฐที่ชาวนาไม่มีส่วนร่วม ดังนั้น โครงการนาแปลงใหญ่เพื่อการปลดหนี้เป็นศูนย์ จึงเป็นทางออกที่ดี
นายระวี กล่าวว่า โครงการปลดหนี้เป็นศูนย์จะต้องมาจากการรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ แต่ต้องปรับการทำงานให้ส่งเสริมสมาชิกอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาโครงการกองทุนฟื้นฟูยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา จึงต้องมานั่งช่วยกันคิด ลดการพึ่งพาภาครัฐ ชาวนาต้องรวมตัวกันและช่วยกันกำหนดทิศทางของตนเอง ยอมรับว่า ข้าวคือข้าวการเมือง จึงกลัวการแทรกแซงทางการเมือง
“ตั้งเป้าว่า โครงการปลดหนี้เป็นศูนย์ จะกระจายให้ได้ถึงล้านไร่ แต่การปฏิบัติจะทำได้แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวนา ยืนยันว่า ไม่ใช่โครงการที่จะให้ภาครัฐเข้ามาช่วย แต่อาจจะขอให้ ธ.ก.ส.หรือรัฐบาลช่วยพักดอกเบี้ยในช่วง 5 ปี ส่วนชาวนาจะบริหารเรื่องปลดหนี้สินกันเอง โดยวางแผนว่า 5 ปีจะดำเนินการโครงการนี้ให้สำเร็จ ชาวนาต้องรวมกันสร้างความเข้มแข็ง เพื่อมีอำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว” นายระวี กล่าว
นายวรวิทย์ บุญสร้าง ผู้นำชาวนาจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุการเป็นหนี้สินของเกษตรกร คือภัยธรรมชาติ ยอมรับว่า รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่คุ้มกับที่เกษตรกรได้ลงทุนไป เพราะรัฐบาลช่วยเหลือเพียงแค่เฉพาะหน้า ไม่ได้ช่วยเหลืออย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาข้าวของตนเองได้ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรไม่มีตลาดที่จะกำหนดราคาเป็นของตนเองได้ ด้านภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือไม่ตรงกับความต้องการของชาวนา ทั้งที่ภาครัฐทุ่มเทกับเรื่องอื่นได้จำนวนมาก แต่เหตุใดจึงนำมาใช้กับแก้ปัญหาของชาวนาอย่างเป็นระบบไม่ได้ .-สำนักข่าวไทย