กรุงเทพฯ 20 ส.ค.- นายกสมาคมเครือข่าวชาวนาไทย เสนอแนวทางแก้ปัญหาชาวนา ทำแผนระดับพื้นที่ก่อนนำไปสู่นโยบายของรัฐบาล ระบุ โครงการจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนดี ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่ควบคุมการทุจริตไม่ได้
ที่โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และพยานฝ่ายโจทก์คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมีส่วนดีเพราะชาวนาได้ประโยชน์ แต่ส่วนเสีย คือการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ระดับชาวนา ทั้งการสวมสิทธิ์ การขนข้าวเข้าโรงสี ข้าวไม่มีคุณภาพ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในช่วงหลังก็ไม่สามารถควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพได้ ทั้งที่รัฐบาลกำหนดว่าต้องเป็นข้าวคุณภาพ แต่ก็ควบคุมไม่ได้ ยอมรับว่า โครงการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่การกำกับดูแลให้โครงการนี้ถึงมือชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับไม่สามารถทำได้จริง
“จริง ๆ แล้ว หลายรัฐบาลมีหลายมาตรการที่ดูดี แต่เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วกลับไม่โดนใจชาวนา เพราะมีขั้นตอน มีระเบียบเยอะ จึงเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ หลายฝ่ายคุยกับผมว่า ทำไมนโยบายของชาวไร่ชาวนาที่จะนำไปสู่การปฏิบัตินั้นไม่เกิดขึ้นจริง ติดขัดอย่างไร ซึ่งผมพูดตรง ๆ ว่า คือ ตัวกลาง คือข้าราชการ แต่ข้าราชการก็โทษว่าชาวนาไม่มีศักยภาพ ขณะที่ชาวนาก็โทษข้าราชการว่า ไม่ลงมาส่งเสริมจริง ต่างก็โทษกันไปโทษกันมา ผมพยายามหาทางออกว่า ทำไมเราไม่จับเข่าคุยกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง” นายระวี กล่าว
นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวอีกว่า ข้าราชการแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนที่เข้าถึงชาวนา ก็จะพูดคุยกับชาวนาแบบพี่น้อง ทำให้โครงการเดินหน้าไปด้วยดี ดังนั้น ที่ผ่านมา ปัญหาชาวนาหรือเกษตรกรที่ยังอ่อนแออยู่ ก็เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ผู้ที่นำลงไปปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้จริง เพราะยึดระเบียบเป็นหลัก แต่กลับไม่เป็นไปตามความต้องการของชาวนา ทำให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่
“ปัจจุบันนี้ ขาดการทำแผน ขาดข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงจากชาวนา หลายรัฐบาลมีนโยบายที่ดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีแผน แล้วพอสั่งการลงไปก็ต้องการผลแบบเร่งด่วน ข้าราชการก็ต้องยกเมฆ คิดเองเออเอง เขียนโครงการขึ้นมา แต่ก็ไม่ตรงกับความต้องการของชาวนา ผมจึงต้องการให้รัฐบาลสั่งการว่า ในการผลิตข้าวแต่ละฤดูกาลและแต่ละพื้นที่ให้มีการจัดทำแผนการผลิตในทุกรอบการผลิต และปรับแผนทุกปี” นายระวี กล่าว
นายระวี กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่มีแผน โครงการก็จะขับเคลื่อนไม่ได้ ซึ่งแผนดังกล่าวก็ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวนาในแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น หากปีนี้ปลูกข้าวไม่ได้ จะทำอย่างไร หากปีนี้น้ำท่วมจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องทำแผนในระดับพื้นที่แล้วจึงนำไปสู่นโยบายของรัฐบาล ทำให้การมีส่วนร่วมของชาวนาเกิดขึ้น ให้ประชาชนช่วยกันร่วมคิดร่วมทำและร่วมตรวจสอบ เพราะประชาชนคือเสาเข็มของประเทศ หากเสาเข็มไม่แข็งแรง อาคารก็จะไม่แข็งแรง ดังนั้น ประเทศก็อยู่ยาก จึงขอฝากรัฐบาลว่า ขอให้ไว้ใจเกษตรกรว่า เกษตรกรก็คิดเป็น อย่ามองว่า พวกตนไม่มีความรู้ แล้วต้องคิดแทนตลอด.-สำนักข่าวไทย