กทม.18 ส.ค.-สธ.เผยความสำเร็จผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อัตราการเสียชีวิตลดลง เหลือน้อยกว่า ร้อยละ 10 นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมวิชาการและสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชน รวม 450 คน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ เพื่อตอบสนองนโยบายในการลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงเร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจ มีการจัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” มีโรงพยาบาล 430แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เฉียบพลันรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้ การป้องกันผลแทรกซ้อนโดยเน้นการรักษาที่รวดเร็วโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดและหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิต โครงการนี้มีส่วนในการกระตุ้นและติดตามการทำงานของเครือข่ายเพื่อตอบสนองนโยบาย Service Plan สาขาหัวใจของกระทรวงสาธารณสุข
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2559–สิงหาคม 2560 จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 430 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 15,087 ราย ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีการส่งต่ออย่างรวดเร็วในกรณีที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางขึ้นไปสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลที่มีศูนย์หัวใจทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลงเหลือร้อยละ 7.4
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดอบรมให้ความรู้ จัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอาทิเช่น การรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การรักษาหัวใจล้มเหลว คู่มือการอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แผนภูมิการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเฉียบพลันรุนแรง เป็นต้น บริหารจัดการข้อมูลโรคหัวใจในภาพรวมของประเทศ (Thai ACS Registry) แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านโรคหัวใจ ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือทางวิชากากรและบริการทางการแพทย์ ตรงตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมการแพทย์ .-สำนักข่าวไทย