กรุงเทพฯ 17 ส.ค.-หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มสิทธิและสวัสดิการแก่ลูกจ้างมากขึ้น ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมองว่า เนื้อหากฎหมายอาจไม่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาของลูกจ้างได้จริง
“แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง อยู่ในสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม” คือโจทย์สำคัญที่ทำให้กระทรวงแรงงานเดินหน้าแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเก่า ที่บังคับใช้มานานกว่า 20 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สาระสำคัญของกฎหมาย คือ กำหนดวันลากิจไม่น้อยกว่า 3 วัน/ปี ให้สิทธิตรวจครรภ์รวมกับสิทธิลาคลอดเป็นเวลา 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง เพิ่มค่าชดเชยจาก 300 วัน เป็น 400 วัน กรณีลูกจ้างอายุงาน 20 ปีขึ้นไปถูกเลิกจ้าง หากย้ายสถานประกอบการ ลูกจ้างไม่ไป มีสิทธิขอเงินชดเชยพิเศษ เท่ากับค่าชดเชยเลิกจ้าง กรณีควบรวมกิจการเปลี่ยนนายจ้าง ลูกจ้างต้องยินยอม และกำหนดค่าจ้างของลูกจ้างชายหญิงเท่ากันในงานที่เหมือนกัน และเพิ่มดอกเบี้ย กรณีเบี้ยวค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือปิดกิจการโดยไม่บอกล่วงหน้าจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 15
เครือข่ายแรงงานบอกแม้กฎหมายเพิ่มสิทธิ แต่อาจไม่ครอบคลุม เช่น ลาตรวจครรภ์ ไม่ควรรวมอยู่ในสิทธิลาคลอด ส่วนเงินชดเชยที่เพิ่มเงื่อนไขอายุงาน ทำให้ลูกจ้างเข้าถึงยาก เนื่องจากส่วนใหญ่อายุงานไม่ถึง 20 ปี ยืนยันสิ่งที่แรงงานต้องการมากที่สุด คือ เพิ่มค่าจ้างรายวัน และกองทุนช่วยเหลือกรณีถูกลอยแพ
นักวิชาการด้านแรงงานกังวลการเพิ่มค่าชดเชยอาจเป็นช่องโหว่ทำให้นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้าง เพื่อเลี่ยงการจ่ายเงิน เพราะเมื่อปี 41 ที่ประกาศใช้กฎหมาย กลับพบตัวเลขเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น แนะควรเปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากกฎหมายมากที่สุด
กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่จะชัดเจนภายในปีนี้ ก่อนบังคับใช้ต้นปีหน้า ถือเป็นความพยายามอีกก้าวของรัฐบาล ที่หวังขจัดข้อพิพาทด้านแรงงาน ซึ่งเป็นเพียงหลักประกันระหว่างทำงาน แต่อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต เพราะสำหรับแรงงาน รายได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่คือสิ่งสำคัญที่สุด.-สำนักข่าวไทย