กทม.17 ส.ค.-ผลการศึกษามาตรการควบคุมพืชเสพติด ‘กระท่อม กัญชา’ ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่เปิดช่องให้สามารถทำการศึกษาวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษา วิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ครั้งที่ 2/2560 เพื่อพิจารณามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ ว่า ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 9/2559 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีนขึ้น เพื่อปรับปรุงนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินการของประเทศต่างๆทั่วโลก เป้าหมายเพื่อกำหนดให้ยาเสพติดแต่ละประเภทต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่เหมารวม
ส่วนกฎหมายบางบทบัญญัติ ขัดกับวิถีชีวิต ก็ต้องปรับปรุงให้เหมาะและสะท้อนความเป็นจริงของสังคม รวมทั้งเปิดช่องให้มีการศึกษาวิจัยง่ายขึ้น ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯได้ศึกษาพร้อมมีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมที่เหมาะสมเกี่ยวกับพืชเสพติด เช่น กัญชง(เฮมพ์) พืชกระท่อม กัญชา และเมทแอมเฟตามีน ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมพืชดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส) กล่าว่า สำหรับผลการศึกษาได้ข้อยุติ และมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยเฉพาะกัญชงหรือเฮมพ์ยังคงกำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่คงมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชง หรือเฮมพ์เพื่อส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งได้อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ คือโครงการหลวง และโรงงานยาสูบทดลองปลูกแล้วกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 9จังหวัด 23 อำเภอ ภายใต้การดูแล และควบคุมของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัด (ศอ.ปส.จ.)
ส่วนพืชกระท่อมกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ผ่อนปรนให้สามารถใช้แบบวิถีชาวบ้าน และเปิดช่องให้สามารถขออนุญาตศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ สำหรับกัญชายังกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่จะเปิดช่องให้แพทย์และโรงพยาบาลขออนุญาตทำการศึกษาวิจัยได้สะดวกขึ้น เช่นเดียวกับพืชกระท่อมแต่จะต้องมีการกำหนดขอบเขตและปริมาณที่จะใช้ ซึ่งหลักการนี้ได้กำหนดไว้ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปรามปรามยาเสพติดฯเสนอไปยังสำนักงานอาหารและยา(อย.)และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบก่อน
นายศิรินทร์ยา ยังกล่าวถึงการหามาตรการควบคุมเมทแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ ว่า เบื้องต้นมีข้อเสนอให้ แอมเฟตามีน ยาบ้า และไอซ์ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯต่อไป ส่วนอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนตัวอื่น ๆ เช่น แอมเฟตามีน ที่ปัจจุบันมีการใช้ในทางการแพทย์อยู่บ้างในต่างประเทศเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้น จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งว่าจะควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท
2 หรือควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯเพื่อให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ได้แต่ต้องโดยมีควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด
นายศิรินทร์ยา กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนบางชนิด เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในทางการ แพทย์ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือนน่าจะแล้วเสร็จ.-สำนักข่าวไทย