สำนักงาน กกต. 17 ส.ค.-“สมชัย” แจงการสาธิตระบบการเลือกตั้งแบบแยกเบอร์รายเขต 23 ส.ค.นี้ ไม่ได้แกล้งให้เกิดปัญหา หวังใช้เป็นเวทีเสนอแนะและปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงที่ยังแก้ไขได้ พร้อมเปิดกว้างผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ส.ค.) ได้มีการจัดประชุมผู้รับผิดชอบในการทำงานของ กกต. ซึ่งได้มีการประเมินผลการทำงานในรอบ 9 เดือน เพื่อดูว่าตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ได้คำนวณไว้ของหน่วยงานต่าง ๆ ใน กกต. ทำงานครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งการติดตามผลการทำงานนี้ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการเลือกตั้ง การเตรียมองค์กรเอกชนเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้ครบทุกจังหวัด ครบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ การเตรียมการด้านนวัตกรรมสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้เตรียมการทำตัวชี้วัดการทำงานในปี 2561 โดยให้ทุกเรื่องสามารถทำงานต่อเนื่องจากปีนี้ และส่งต่อการทำงานให้ กกต.ชุดใหม่ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ภาพรวมการประเมินผลเป็นไปด้วยดี
นายสมชัย ให้สัมภาษณ์หลังส่งการ์ดเชิญถึง 3 องค์กร ให้มาร่วมชมการสาธิตระบบการเลือกตั้งแบบแยกเบอร์รายเขตในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ว่า ได้มีการจัดส่งบัตรเชิญทางไปรษณีย์ให้แก่บุคคลต่าง ๆ ที่คิดว่าถ้ามาร่วมชมการสาธิตแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะสามารถให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น เช่น อดีต กกต.บางคน ที่อยู่ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย คาดว่าถ้าบุคคลเหล่านี้มีเวลาว่าง ก็อยากเชิญให้มาร่วมสังเกตการณ์
“หลายคนก็มองในมุมว่า กกต.คงจะแกล้งทำให้เป็นปัญหาหรือเปล่า จะได้ยกเลิกระบบดังกล่าว ต้องบอกว่าไม่ใช่ กกต.จะพยายามทำให้ดีที่สุด ออกแบบให้สมบูรณ์ที่สุดและให้สะดวกที่สุด โดยอยากให้ช่วยดูว่าการออกแบบดังกล่าวยังเห็นข้อบกพร่องอะไร จะได้ปรับปรุงแก้ไข เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้ง เราได้ให้นโยบายไปว่าต้องเป็นบัตรที่ดีที่สุดต่อประชาชน ดังนั้นบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ก็จะมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อผู้สมัคร โลโก้และชื่อของพรรค ซึ่งหมายความว่าประชาชนจะไม่ผิดหลง สามารถเลือกคนและพรรคได้ถูกต้อง หลายคนบอกว่าเอาแค่ชื่อพรรคอย่างเดียวได้หรือไม่ ไม่ต้องเอาโลโก้ คำตอบ คือ คนมีหลายประเภท บางคนอาจจะอ่านหนังสือไม่ออก ก็ให้จำโลโก้พรรคแทน เช่นเดียวกับทำไมถึงต้องมีชื่อผู้สมัคร ก็เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าคน ๆ นี้เป็นคนที่เราต้องการจะเลือกจริง ๆ การออกแบบดังกล่าว ถ้าหากว่าได้ผล ไม่เกิดความสับสนและก็เป็นสิ่งที่ดี จะเป็นแบบที่จะใช้ในการเลือกตั้งจริงในอนาคต” นายสมชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ กรธ.ไม่ได้ฟันธงว่าจะมีการใส่ชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งลงไปด้วยนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ กกต.เองคิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะบัตรเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งตัวบุคคลและเลือกพรรค หากอะไรก็ตามที่สามารถทำให้ประชาชนเลือกได้อย่างถูกต้องก็ควรทำ คงไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอให้เขียนไว้ในกฎหมายก่อน อะไรก็ตามที่เป็นแนวความคิดที่ดี
“ในการเลือกตั้งบางประเทศที่ใช้ระบบทัชสกรีนส์บนจอคอมพิวเตอร์ ในนั้นมีรูปผู้สมัคร ทำให้รู้ว่าเป็นใคร โดยเวลาเลือกก็จะกดที่รูปผู้สมัครแต่ละคน จะทำให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้อย่างไม่ผิดพลาด ดังนั้นคงไม่ต้องไปรอว่าต้องมีกฎหมายออกมา จึงจะคิดทำ อะไรก็ตามที่คิดแล้วมีประโยชน์และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนเลือกได้อย่างถูกต้อง ทั้งคนและพรรค สมควรทำ อย่าไปสร้างระบบที่สับสน” นายสมชัย กล่าว
เมื่อถามว่า หลังการสาธิตแล้วจะมีการนำเสนอเรื่องนี้ให้ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่ เพราะจะเป็นผู้พิจารณากฎหมายนี้ในอนาคต นายสมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะกระบวนการร่างกฎหมายก็ยังไม่เสร็จ ในขณะที่กำลังร่างฯ สามารถแก้ไขได้ ก็ควรจะหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบ
“ไม่ควรที่จะใช้วิธีการที่คิดว่าต้องรอให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาคิด ค่อยมาแก้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นเหมือนการออกกฎหมายหลายฉบับที่เคยมีบทเรียนในอดีตว่าออกมาแล้วท้ายที่สุดก็ต้องมายกเลิก มาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ดังนั้นถ้าทำให้ง่ายให้เสร็จในขั้นตอนเดียว คือในขั้นตอนของการร่างฯ จะดีที่สุด แล้วคนที่ร่างฯ ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นสิ่งที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ต้องกังวลว่ามาแล้วจะเป็นปัญหา มาแล้วจะต้องมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเชิญชวน ไม่ได้เป็นเพียงแต่ว่าคนที่เราส่งจดหมายเชิญเท่านั้น ท่านอื่น ๆ ก็มาได้ ก็ยินดีเรียนเชิญ” นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย