ทำเนียบฯ 15 ส.ค. – ครม.ไฟเขียวประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ เปิดทางหลายรูปแบบ จากเดิมใช้เพียงระบบสัญญาสัมปทาน คาดตุลาคมนี้เปิดประมูลอ่าวไทยหลายแหล่ง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศปิโตรเลียม ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 กฎหมายลูกประกอบด้วย ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การได้รับสิทธิสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ร่างกฎกระทรวงกำหนดสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ… ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลานำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ และประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมในการกำหนดเพื้นที่สำรวจพื้นที่ เพื่อกำหนดสิทธิ์การสำรวจในหลายรูปแบบ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต สัญญาจ้างผลิต สัญญาสัมปทาน จากระบบเดิมใช้สัญญาสัมปทานเพียงรูปแบบเดียว จนเกิดปัญหาประท้วงจากผู้คัดค้าน ถกเถียงมาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นการปฏิรูประบบการสำรวจพลังงานของไทย
โดยกำหนดให้ผู้ขอสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ต้องมีทุนด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ รองรับการสำรวจและจำหน่ายปิโตรเลียม และมีหนังสือรับรองจากสถาบันเชื่อถือได้ และการขอยื่นสิทธิ์รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ต้องเสนอข้อผูกพันทั้งปริมาณเงินลงทุนและปริมาณงานในการสำรวจในช่วงระยะเวลา 6 ปี และสำรวจเพิ่มอีก 3 ปี จากนั้นกำหนดระยะเวลาแบ่งปันผลผลิต 20 ปี ต่ออายุไม่เกิน 1 ครั้ง เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยผู้รับสัญญาต้องจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 10 ของมูลค่าผลผลิต การคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าผลผลิต หากเกินตัดยอดไปรอบบัญชีไตรมาสต่อไป และเงินที่นำจ่ายค่าภาคหลวงต้องจ่ายในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น
รัฐบาลได้กำหนดโอกาสในการพบปิโตรเลียม จากค่าเฉลี่ยในการขุดพบแหล่งปิโตรเลียมของไทยร้อยละ 39 จากทุกภาค ทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ใต้ อ่าวไทย อันดามัน หากแหล่งใดมีโอกาสขุดพบมากกว่าร้อยละ 39 จะใช้แนวทางแบ่งปันผลผลิต หากแหล่งใดมีโอกาสขุดพบน้อยกว่าร้อยละ 39 กำหนดใช้ระบบสัญญาสัมปทาน ส่วนการจ้างผลิตดูตามศักยภาพการขุดพบในสัดส่วนน้อย เพราะหากรัฐบาลเข้าไปร่วมทุนมีโอกาสเสียหายมากกว่าและอาจเป็นภาระต่อรัฐบาลได้ นอกจากนี้ ยังทบทวนรายละเอียดในสัญญาทุก 3 ปี รวมทั้งหากการประกาศเปิดให้สำรวจแล้วไม่มีเอกชนรายใดเสนอเข้าสำรวจ จะประกาศปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายในเดือนกันยายนแล้ว คาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมกฎหมายบังคับใช้จะเริ่มเปิดให้เริ่มเอกชนยื่นสำรวจแหล่งสัมปทานได้
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากแหล่งปิโตรเลียมมีปริมาณน้ำมัน 300 ล้านบาร์เรลต่อแหล่ง หรือ 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อแหล่ง หรือ 40,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม จะใช้วิธีการจ้างผลิต แต่หากปริมาณเกินกว่านั้นจะใช้วิธีการทั้งแบ่งปันผลผผลิตและวิธีการสัญญาสัมปทาน จากปัจจุบันศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยขุดเจาะ 44 แหล่ง พบปิโตรเลียม 4 แหล่ง หรือร้อยละ 14 , ภาคเหนือและภาคกลาง ขุดเจาะ 205 ครั้ง พบปิโตรเลียม 63 ครั้งหรือร้อยละ 31 ,อ่าวไทย ขุดเจาะ 352 ครั้ง พบแหล่ง 176 ครั้งหรือร้อย ละ 50 ส่วนภาคใต้บนบกขุด 6 ครั้ง และทะเลอันดามันขุด 19 ครั้งไม่พบแหล่งปิโตรเลียม สัดส่วนเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์ คาดว่าจะสร้างประโยชน์ในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย